กสม. เปิดเวทีธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน – ดันรัฐวิสาหกิจไทยเป็นต้นแบบกิจการเคารพสิทธิฯ เดินตามหลักการชี้แนะสหประชาชาติ – สะท้อนเจตนารมณ์รัฐบาลไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

05/04/2561 1109

                วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๑ ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เอเชีย-แปซิฟิก (UNDP) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “Leading by Example : รัฐวิสาหกิจไทยสู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน”
                นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ว่า ประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ กสม. ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา กสม. หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชนได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGPs) เพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐวิสาหกิจไทยเป็นจำนวนมาก การจัดงานสัมมนาในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไทยตระหนักถึงความสำคัญและเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และเพื่อเผยแพร่ความรู้และร่วมกันขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปี ๒๕๕๔ องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการวางบรรทัดฐานสำหรับภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลได้พยายามผลักดันและกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจรวมทั้งรัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯ ภายใต้หลักการ ๓ เสาหลักได้แก่ การเคารพ การคุ้มครอง และการเยียวยา นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการและกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในธุรกิจประมง หรือ การพัฒนากฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อกำกับให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเป็นธรรม พร้อมกับการประกาศวาระแห่งชาติเรื่อง “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วย นอกจากนี้ ความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ซึ่งดำเนินการโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ จากนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้วก็จะเผยแพร่แผนปฏิบัติการฯ นำสู่การปฏิบัติต่อไป โดยที่รัฐวิสาหกิจไทยจะเป็นแกนนำและต้นแบบให้แก่ภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวภายใต้หลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน
                Mr. Dante Pesce คณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ รัฐวิสาหกิจมีพฤติกรรมในการทำธุรกิจเช่นใด ย่อมสะท้อนจุดยืนของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ดีขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สิ่งที่สำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจคือ การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนนั้นมิใช่อุปสรรคต่อการประกอบกิจการ หากแต่จะยิ่งส่งผลดีต่อการสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ของกิจการที่ดีมีธรรมมาภิบาลนำสู่การดึงดูดนักลงทุนและผลกำไรที่มากขึ้นในท้ายที่สุด ทั้งนี้สิ่งท้าทายสำคัญของรัฐวิสาหกิจหรือภาคธุรกิจคือ การประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของกิจการ ซึ่งบริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องรู้ว่าเกิดปัญหาใด ต้องยอมรับว่ามีปัญหาและเปิดเผยอย่างจริงใจต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นธรรม
                ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นที่ท้าทายของการดำเนินกิจการที่เคารพสิทธิมนุษยชนในส่วนของรัฐวิสาหกิจ คือ การที่รัฐวิสาหกิจมีกิจการที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งบริษัทลูกในกำกับ และบริษัทที่รัฐไปร่วมทุน จึงมีความจำเป็นต้องออกนโยบายและตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกประเภทและขนาดของกิจการ ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐวิสาหกิจไทยยังขาดนโยบายสำคัญสองประการที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ประการแรก นโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องไม่ซื้อสินค้าหรือจ้างบริษัทที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประการที่สอง นโยบายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในกิจการที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
                นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวเนื่องจากการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจกระจายอยู่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทบทุกด้าน เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิสุขภาพ สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร โดยเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านการขนส่งและพลังงาน เช่น ผลกระทบจากทางเสียงและฝุ่นละออง ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชน การจัดการที่ดิน การเข้าถึงบริการสาธารณะของผู้พิการ ฯลฯ ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจไทยทั้ง ๕๖ แห่ง โดยที่ ๒๖ แห่งได้จัดตั้งบริษัทลูกในเครือด้วยนั้น ควรดำเนินการตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งหลักการดังกล่าวได้เสนอแนวทางให้ภาคธุรกิจ ‘รู้และแสดง’ ว่าได้เคารพสิทธิมนุษยชนดังนี้ ๑) แสดงความผูกพันมุ่งมั่นในระดับนโยบายว่าองค์กรจะเคารพสิทธิ ๒) จัดให้มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และ ๓) จัดให้มีกลไกการเยียวยาเมื่อกระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กสม.จะนำผลสรุปจากการสัมมนาไปจัดทำข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป (ซึ่งในชั้นนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระแรกแล้ว และอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ)

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๕ เมษายน ๒๕๖๑

05/04/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน