คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ ประชุมกับ กสม. ขับเคลื่อนหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

27/03/2561 1115

               วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์   นางอังคณา  นีละไพจิตร และนางเตือนใจ       ดีเทศน์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ให้การต้อนรับและร่วมประชุมกับ  Mr. Dante Pesce และ Mr. Surya Deva  รองประธานและสมาชิกคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ (United Nations Working Group on the Issues of Human Rights and Transnational Corporations and other Business Enterprises) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights – OHCHR) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ  ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  โดยการเยือนไทยของคณะทำงานฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาคส่วนต่าง ๆ ตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGPs) และจัดทำรายงานผลพร้อมข้อเสนอแนะ
                ในการประชุมดังกล่าว  กสม. ได้นำเสนอบทบาทในการทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ อาทิ การจัดทำคำแปลของหลักการชี้แนะ เรื่อง สิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา เป็นภาษาไทย  การจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักการชี้แนะให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจเอกชน การกำหนดให้เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นหลักในยุทธศาสตร์ กสม. ระหว่างปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕ การจัดทำข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan) การจัดทำคู่มือให้ภาคธุรกิจทำการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence) และสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสม. จากกรณีเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน และสิทธิในการทำงาน
                นอกจากนี้ กสม. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่คณะทำงานให้ความสนใจและสอบถาม เช่น ผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่สำคัญ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ บทบาทของ กสม. ในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ และการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และองค์ประกอบ คุณสมบัติ การสรรหา และอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐                

เผยแพร่โดย  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
          ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ 

27/03/2561

เลื่อนขึ้นด้านบน