กสม. นำเสนอรายงานผลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๙ ต่อที่ประชุม สนช.เผยเจ้าหน้าที่รัฐถูกเชื่อมโยงกรณีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม-สิทธิชุมชนแนะรัฐให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทุกด้านของประชาชน

24/03/2561 103

                วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่รัฐสภา นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยนางภิรมย์  ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายโสพล จริงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวอัจฉรา ฉายากุล ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิชาการ เข้าร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๑ เพื่อเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙
                นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ โดยระบุว่า ภาพรวมของรายงาน ปี ๒๕๕๙ สะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐหลายประการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปฏิรูปประเทศ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างกฎหมาย การลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ แต่ กสม. ยังเห็นผลกระทบในการดำเนินการที่มีต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและชุมชน โดยมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์ในช่วงปี ๒๕๕๙ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ๔ ด้าน ดังต่อไปนี้
                ๑. การใช้ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และการใช้กฎหมายในลักษณะพิเศษ  กสม. พบว่า แม้ว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แต่ก็ยังพบความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ. ....  นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้ หรือการตีความกฎหมายบางฉบับที่อาจเกินขอบเขต ส่งผลให้เกิดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเสรีภาพในการสื่อสาร หรือการนำเสนอข่าวสาร
                ๒. การนำกฎหมายหรือนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กสม. พบว่า มีความคืบหน้าในหลายกรณี อาทิการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ ทว่า ยังมีข้อติดขัดในทางปฏิบัติ และผลกระทบข้างเคียงจากการดำเนินนโยบายต่อบุคคล และชุมชน ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๙ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมสูงที่สุด โดยในส่วนนี้มีสถานการณ์ที่มีการอ้างถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย อย่างไรก็ดี กสม. พบความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ตามข้อเสนอของ กสม. นำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ให้ภาคธุรกิจไทยที่ประกอบกิจการทั้งในและนอกราชอาณาจักรปรับใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ
                ๓. ทิศทางการใช้กฎหมายหรือนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการสร้างศักยภาพในการลงทุน จากการที่ กสม. จัดกระบวนการติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ชุมชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐเพื่อการค้าและการลงทุน โดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม ในการดำเนินการ ทำให้เกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความไม่มั่นคง การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม ศาสนาของชุมชน ในบางครั้งเชื่อมโยงกับการใช้กำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐมักถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ มีการออกคำสั่ง คสช. หลายฉบับส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน รวมถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปกป้องชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมักจะถูกเชื่อมโยงเป็นเรื่องการเมือง ทำให้ผู้นำชุมชนที่ดูแลผลประโยชน์สาธารณะถูกข่มขู่คุกคามโดยการฟ้องร้องดำเนินคดี กสม. จึงเห็นว่า รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และการพิจารณาออกกฎหมาย/นโยบายเพื่อมิให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามผู้ที่ดูแลผลประโยชน์สาธารณะ
                ๔. ความจำเป็นในการดำเนินงานติดตามและประเมินผลการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีกลไกและกระบวนการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ สรุปว่า กสม. มีภารกิจหลักในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในงบประมาณปี ๒๕๕๙ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ๗๔๘ เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่รับไว้ตรวจสอบและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ๔๗๙ เรื่อง เช่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งมีการเสนอมาตรการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
                สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมีการดำเนินการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ในระดับประเทศ มีการสร้างกลไกการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ปฏิบัติงานอุทิศตนเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยดำเนินการร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และในระดับระหว่างประเทศ มีการดำเนินการเพื่อให้ กสม. ได้รับการปรับสถานะจาก ‘บี’ เป็น ‘เอ’ จากคณะกรรมการรับรองสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (SCA) เครือข่ายพันธมิตรสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ โดยการเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเพิ่มข้อบัญญัติในร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ด้วยการให้มีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มกัน กสม. ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริต เป็นอิสระ และไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและทางอาญา รวมทั้งกระบวนการสรรหา กสม. ในส่วนของกรรมการสรรหาเพื่อให้มีความหลากหลาย
                อนึ่ง กสม. ได้จัดส่งรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ และผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วในวันเดียวกันนี้  โดยคาดว่าจะเข้าแถลงรายงานฯ ปี ๒๕๖๐ ดังกล่าวต่อที่ประชุม สนช. ได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (https://goo.gl/f9FvKP)


 เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑

24/03/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน