กสม.อังคณา เผย สรุปผลการตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้ ในทางอาญา (SLAPPs) และห่วงกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

10/02/2561 110

                เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กรณีการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากนโยบายของรัฐของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วนั้น เห็นว่ามีกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน กล่าวคือสืบเนื่องจากปี ๒๕๕๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในลักษณะของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคามในหลายรูปแบบ อาทิ การร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกฟ้องร้องจากการเคลื่อนไหวคัดค้านกลุ่มผลประโยชน์ หรือจากการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน รวมถึงการไม่ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนหลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวจากกองทุนยุติธรรม โดยกองทุนยุติธรรมมักจะให้เหตุผลว่า การกระทำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ขอรับความช่วยเหลือมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ขอรับความช่วยเหลือเป็นบุคคลที่มีเงินหรือหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราว หรือมีความสามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยตนเอง
                กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเรื่องการคุกคามนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีผลทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อสิทธิพลเมืองต้องได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต ทั้งความกังวลต่อความปลอดภัย โดย กสม. มีข้อสังเกตต่อการใช้ช่องทางการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายว่าสร้างผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการทำให้เกิดความหวาดกลัว
                ทั้งนี้ ในคราวประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องลักษณะดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPPs)” รวมถึงอาจหารือร่วมกับองค์อื่นๆ โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีและองค์กรนิติบัญญัติในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law) รวมถึงควรดำเนินการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยการยกเลิกข้อความที่ให้อำนาจคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือคำนึงถึงสาเหตุหรือพฤติการณ์ของผู้ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้ที่น่าเชื่อว่ามิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เช่นนี้ถือเป็นการให้อำนาจวินิจฉัยความผิดของผู้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือล่วงหน้าแทนศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือของประชาชนในการดำเนินคดี
                ประการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “เป็นเรื่องน่ากังวลที่ปัจจุบัน SLAPPs ในทางอาญา ถูกนำมาใช้ในการฟ้องคดีมากขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยผู้ประกอบการหรือบริษัทขนาดใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ หรือการตรวจสอบรัฐ ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการฟ้องเช่นนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือ คุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ” นางอังคณา ฯ กล่าวทิ้งท้ายสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

10/02/2561

เลื่อนขึ้นด้านบน