กสม. เสนอ “ครม. - สนช.” พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ให้ครบถ้วนรอบด้าน ตามกลไกรัฐธรรมนูญ - พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

12/12/2560 151

          เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายการผลการศึกษาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... และมีมติเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) รวม ๔ ประเด็น ดังนี้
          ๑. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวและนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้มีส่วนได้เสียในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนได้เสนอความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลในรายมาตรา อย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน
          ๒. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรพิจารณาให้มีการแก้ไข มาตรา ๓๖ แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น และจะต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นออกจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งจะต้องชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม
          ๓. รัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรพิจารณาให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๓ แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาตหรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น และ
          ๔. คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพ รวมและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๗/๒๕๖๐ เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ ให้พิจารณาดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติหลังปี พ.ศ. 2558 - 2573 (Sustainable Development Goals – SDGs post – 2015 - 2030)
          นายวัส กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและมีหนังสือสอบถามความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม ๗ ครั้ง ในขณะที่ช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย มีเพียงช่องทางการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในระหว่างวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ซึ่งมีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพียง ๔ คนเท่านั้น
          “แม้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ตามวิธีการข้างต้นแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่ครอบคลุม ๓ จังหวัด ซึ่งมีประชากรในหลากหลายอาชีพและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีข้อสังเกตว่าการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้วยวิธีดังกล่าวอาจจะไม่กว้างขวางเพียงพอและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามมาตรา ๔๓ ” ประธาน กสม. กล่าว
          นายวัส กล่าวในท้ายที่สุดว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ดังกล่าวข้างต้นมิได้ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่สองล่าช้าหรือสะดุดหยุดลง เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกไปอีก ๖๐ วัน ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ระบุว่าร่างพระราชบัญญัตินี้มีเนื้อหาสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบและมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป กรณีจึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องต้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้โครงการพัฒนาของรัฐตลอดจนการตรากฎหมายเป็นประโยชน์ สร้างความยั่งยืนต่อประชาชนส่วนรวม และปราศจากความขัดแย้งจากทุกภาคส่วนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐

12/12/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน