กสม. อังคณา นีละไพจิตร เสนอรัฐบาลเพิ่มมาตรการ กลไกการคุ้มครองผู้หญิงและเด็ก เนื่องในโอกาสวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

24/11/2560 1975

            เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นางอังคณา  นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากยังต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยในช่วงปีที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในประเด็นทางเพศ เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความรุนแรงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศจากการทำงาน การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ปัญหาทัศนคติและอคติทางเพศของสังคมไทย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในรูปแบบต่างๆถึงแม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้มีความพยายามสร้างมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่น่ายกย่องและชื่นชม  อย่างไรก็ดียังมีข้อกังวลและห่วงใย  เช่น
          ๑. ข้อจำกัดทางกฎหมาย  พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ 
เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติได้ ด้วยเหตุผลตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย ซึ่งขัดกับตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการการขจัด
การเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of  Discrimination - CEDAW) ขององค์การสหประชาชาติ  ที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศถือเป็นความรุนแรง
ต่อผู้หญิง
          ๒. ผู้หญิงและเด็กหญิงกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ และมีอุปสรรคหลายประการในการเข้าถึงความยุติธรรม
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักถูกคุกคามด้วยการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกคุกคามทางเพศ ในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่เด็กหญิงที่อพยพย้ายถิ่นตามครอบครัวมายังประเทศไทยถูกกักตัวในสถานที่กักร่วมกับผู้ใหญ่ และไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)
          ๓. พนักงานและข้าราชการหญิง ยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศจากการทำงาน ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะได้มีมติให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการเพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าว  แต่หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ
          นางอังคณา เปิดเผยต่อว่า ในโอกาสที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ
มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเนื่องในโอกาสวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว
ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี  ดังนี้
          ๑. รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศ และการเคารพในความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ตามหลักการสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination (CEDAW) ) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดกลไกที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ๒. รัฐบาลควรสร้างหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ โดยกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นมิตรกับผู้หญิง มีกระบวนการการให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในการต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ พร้อมทั้งให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
          ๓. รัฐควรรีบเร่งให้มีกลไกเพื่อคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกรณีใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสมาคมเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและ
สิทธิมนุษยชน 
          ๔. รัฐบาลควรรับประกันการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถนำเสนอปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาความยากจน หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
          นางอังคณา กล่าวตอนท้ายว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพจะมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสังคมให้เกิดความเป็นธรรมที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ


                                                                                สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                                                                                        ๒๔ พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ 

24/11/2560

เลื่อนขึ้นด้านบน