กสม. เสนอแนะ แก้ไขประกาศการยางแห่งประเทศไทย ให้สามารถขึ้นทะเบียนคนกรีดยางรายย่อยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามกฎหมาย แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและความเหลื่อมล้ำ

24/09/2560 104

          เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุม กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ได้พิจารณาและมีมติส่งเรื่องไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันทบทวนและแก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. ๒๕๕๘ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางของกลุ่มคนกรีดยางรายย่อยซึ่งมีสิทธิได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้น ให้สอดคล้องกับเหตุผลและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘
          นายวัส กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีคนกรีดยางรายย่อยในจังหวัดภาคใต้รวม ๙๑ คน ร้องต่อ กสม. กรณีได้รับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากรัฐ จากการที่สำนักงานสาขาของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไม่รับขึ้นทะเบียนผู้ร้องทั้ง ๙๑ คนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินมายื่นประกอบการพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศข้างต้น 
          ประธาน กสม. กล่าวว่า มาตรา ๔ ของกฎหมายว่าด้วยการยางแห่งประเทศไทย กำหนดให้บุคคลสามารถขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ (๑) เจ้าของสวนยาง (๒) ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง และ (๓) คนกรีดยาง เกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมีสิทธิที่จะยื่นคำขอต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อรับการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งเงินจัดสรรจากกองทุนพัฒนายางพาราแล้วแต่ประเภทของผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน การที่เจ้าหน้าที่ของ กยท. ไม่รับขึ้นทะเบียนผู้ร้องโดยอ้างว่าไม่มีคุณสมบัติตามประกาศข้างต้นที่ออกตามความในมาตรา ๔ ของกฎหมายว่าด้วยการยางแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินมายื่นประกอบการพิจารณา
          นายวัส กล่าวต่อว่า การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวตามประกาศข้างต้นจึงมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิพลเมืองที่ประกอบอาชีพเป็นคนกรีดยางรายย่อยซึ่งมีสิทธิได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้นเกินสมควร นอกจากนี้ยังพบว่า คนกรีดยางโดยชอบด้วยกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าของสวนยาง เนื่องจากเจ้าของสวนยางบางรายไม่ต้องการรับรองคนกรีดยางเกินจำนวน ๔ คน ทำให้ในสวนเดียวกันมีทั้งผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้
          “ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. เห็นว่า เนื้อหาของประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นการกระทบสิทธิของคนกรีดยางรายย่อยเกินสมควร ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่จะพึงมีพึงได้ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๒๗ , ๔๐ , ๗๓ และ ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ และหลักสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่รัฐไทยให้การรับรอง” นายวัส ระบุ
          นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า การทบทวนและแก้ไขประกาศดังกล่าวผู้เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะข้อเสนอของคนกรีดยางรายย่อยที่มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้ที่มีเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นสวนยางที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่มีหนังสือรับรองของคณะกรรมการชุมชนที่ตนเองเป็นสมาชิก และชุมชนนั้นได้รับการรับรองการมีอยู่ของชุมชนโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสภาองค์กรชุมชน หรือคณะกรรมการประสานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน สามารถมีสิทธิยื่นขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
          นางประกายรัตน์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนกรีดยางรายย่อยในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขประกาศข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ควรพิจารณาให้ผู้ถูกร้องช่วยเหลือเยียวยาคนกรีดยางรายย่อยที่ถูกปฏิเสธไม่รับขึ้นทะเบียน และ/หรือที่ยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ ไปพลางก่อน เพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวสามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยางได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข  การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นมาใหม่
          “ปัญหาของคนกรีดยางรายย่อยที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนที่มีอาชีพปลูกหรือกรีดยางไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ หรือ CESS และภายหลังเมื่อมีการจำหน่ายผลผลิต กลุ่มที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนนอกเหนือจากจะไม่ได้การช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐแล้วก็จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินสงเคราะห์กลับคืนอีกด้วย ซึ่งทราบว่ายังมีเป็นจำนวนหลายแสนคน” นางประกายรัตน์ กล่าวในที่สุด


 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๔ กันยายน ๒๕๖๐

24/09/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน