กสม. ห่วงกังวลต่อเสรีภาพทางวิชาการ

23/08/2560 112

          สืบเนื่องจากการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติฯ กล่าวคือ อาจารย์ ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพวก รวม ๕ คน ระบุว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีชุมนุมทางการเมืองเกิน ๕ คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ฐานความผิด ตามคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ข้อ ๑๒ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ตามที่ทราบทั่วกัน นั้น
          นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่อำนาจในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักวิชาการ และประชาชนที่แสดงความเห็นโดยสุจริตในเวทีวิชาการ อาจเป็นการคุกคามและอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในหมู่ประชาชนหรือไม่อย่างไร  จึงได้มีมติในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ หยิบยกกรณีดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว
          ทั้งนี้  ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐  มาตรา ๓๔ ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น... วรรคสอง เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ประกอบในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง
          อย่างไรก็ตาม  “กสม ได้เคยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และทบทวนกฎหมาย ประกาศหรือคำสั่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยสุจริตและมีคำสั่งกำชับให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้คำนึงถึงการใช้อำนาจตามขอบเขตของกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ แล้ว การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามขอบเขตตามรัฐธรรมนูญ จึงย่อมได้รับความคุ้มครอง”  นางอังคณา  นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าว      

                                                                                   สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐ 

23/08/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน