คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดทำข้อเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ

25/04/2560 121

          นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎร และกรณีราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ และที่ ๖๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ เพื่อเป็นแนวทางลดความเดือดร้อนของประชาชนในการใช้มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

          กล่าวคือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากราษฎรในหลายพื้นที่ ซึ่งกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนจากการถูกขับไล่จากที่ดินทำกิน ถูกจับกุมและดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ และหรือกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเขตพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินที่ราษฎรยึดครองทำกิน โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ที่เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนได้มีการดำเนินการตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทาให้ราษฎรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติการดังกล่าว โดยราษฎรกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ คุกคามต่อชีวิต และเสรีภาพ พร้อมทั้งยึดทำลายพืชผลของโดยปราศจากการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

          ประธาน กสม. เปิดเผยอีกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ กสม. ทำข้อเสนอแนะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) ที่ให้ กสม.มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะดังกล่าวต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๑๖/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ มีมติเห็นชอบให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทาง และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐประเภทพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้ กสม.ตระหนักถึงความห่วงกังวลของรัฐบาลในการสงวนรักษาพื้นที่ป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรของประเทศและเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและวิถีชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของโลกและกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ชุมชนระหว่างประเทศให้ความสนใจในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน แต่ทว่ามาตรการที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย จะไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้เลย หากภาครัฐละเลยที่จะตระหนักถึงความจริงที่ว่า ปัญหาดังกล่าวนอกจากจะมีรากส่วนหนึ่งมาจากการไม่เคารพกฎเกณฑ์เพื่อประโยชน์สาธารณะของราษฎรบางกลุ่มแล้ว ยังมีเหตุมาจากการดำเนินการของภาครัฐด้วย
 --------------------------------------------------------------

          สาระสำคัญของข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มีดังนี้

          ๑. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          เนื่องจากนโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่ดินของรัฐกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของราษฎรและประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา และการกำหนดเขตดังกล่าวเป็นการจำกัดการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของเอกชน ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ และเป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้ายและเลือกถิ่นที่อยู่ของพลเมืองในราชอาณาจักร ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) โดย กสม. มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
                    ๑.๑ คณะรัฐมนตรีควรกำหนดแนวทางปฏิบัติและสนับสนุนส่วนราชการเกี่ยวกับการจัดการที่ดินของรัฐประเภทที่ป่า ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อุทยานแห่งชาติ และที่อนุรักษ์อื่น ๆ ดังนี้
                              (๑) ควรสนับสนุนงบประมาณหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับการจัดการที่ดินของรัฐและทรัพยากรป่าไม้ไปยังหน่วยงานในพื้นที่สำหรับการจัดทำแผนที่และสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ
                              (๒) ในการประกาศพื้นที่อนุรักษ์แห่งใหม่และการขยายพื้นที่จากเขตเดิม ควรพิจารณาว่าจำเป็นเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารหรือไม่ โดยไม่ควรประกาศเขตอนุรักษ์เพื่อหวงกันเพียงให้ได้จำนวนพื้นที่ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติเท่านั้น แต่ควรใช้แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ในที่ดินเอกชนแทน ในกรณีจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและรับรู้ถึงแผนการดำเนินการของภาครัฐ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการ และควรกำหนดให้มีการสำรวจพื้นที่จริงโดยใช้เทคโนโลยีสำรวจทางอากาศหรือดาวเทียมภายในระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี ก่อนการประกาศ และทำแผนที่ทางกายภาพ สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์แล้ว ควรมีการสำรวจและตรวจสอบพื้นที่จริงโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทุก ๒ ปี
                              (๓) ควรกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ และควรพิสูจน์ก่อนมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนี้
                                        ขั้นแรก ควรพิสูจน์สิทธิโดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบันเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในอดีตที่ใช้เป็นฐานในการพิสูจน์ซึ่งส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการจัดหา เช่น ภาพถ่ายปี ๒๕๔๘ (มาตราส่วน ๑ : ๔,๐๐๐) เป็นต้น โดยหากพบว่ามีการเข้าทำประโยชน์ก่อนภาพถ่ายปีดังกล่าว ควรให้การรับรองเป็นหนังสือโดยระบุขอบเขตและพิกัดดาวเทียมแก่ราษฎรเพื่อให้สามารถทำประโยชน์ต่อไปได้ หากพิสูจน์แล้วว่าเป็นกรณีการทำประโยชน์ภายหลังจากปีที่ใช้เป็นฐานในการพิสูจน์หรือมีการขยายพื้นที่ จึงจะให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่จริงและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้บุกรุกครอบครองในปัจจุบัน ทั้งนี้ กรณีไม่มีภาพถ่ายทางอากาศในปีที่ใช้เป็นฐานในการตรวจสอบดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์โดยพยานบุคคลหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์
                                        ขั้นตอนต่อมา ควรจะตรวจสอบวัตถุประสงค์ของการบุกรุก ว่าเป็นการบุกรุกด้วยวัตถุประสงค์ใด โดยหากเป็นการบุกรุกเพื่อเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่จำนวนไม่มากนัก หรือมีลักษณะเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมหรือเป็นที่ดินที่อาศัยสืบต่อกันมาของกลุ่มชาติพันธุ์ และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ ก็ควรจะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือและรับรองให้อยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขโดยไม่จำต้องให้เอกสารสิทธิที่สามารถเปลี่ยนมือได้ ทั้งนี้ หากเป็นการบุกรุกอุทยานแห่งชาติอาจจะพิจารณาให้ทำประโยชน์ได้ในฐานะผู้ร่วมอนุรักษ์ตามมาตรา ๑๙ ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือหากเป็นการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ หน่วยงานในพื้นที่ก็อาจมีการทำข้อตกลงทางปกครองไว้กับราษฎร ให้สามารถทำประโยชน์และให้ช่วยทำนุบำรุงป่าไม้ไปพร้อมกัน โดยควรสนับสนุนให้ทำประโยชน์ที่หลากหลาย ให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น พืชไร่หรือยางพารา ในปริมาณมาก แต่หากเป็นการบุกรุกเพื่อทำประโยชน์อย่างเดียว ก่อนการดำเนินการต่อไปควรพิสูจน์สถานะก่อนว่าเป็นผู้ยากไร้หรือไม่ ซึ่งควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาโดยร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และประกาศให้ชัดเจนเพื่อเป็นขอบเขตในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และป้องกันการกล่าวอ้างโดยมิชอบของบุคคลที่ไม่สุจริต อีกทั้งควรมีการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้การช่วยเหลือด้านสวัสดิการและเพื่อการตรวจสอบในอนาคต และหากผู้บุกรุกเข้าเกณฑ์เป็นผู้ยากไร้ซึ่งบุกรุกครั้งแรกด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ภาครัฐควรพิจารณาช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและอาจต้องเยียวยาโดยจัดที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของบุคคลดังกล่าว โดยอาจพิจารณาจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรหรือชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ
ทั้งนี้ ควรจำกัดให้สัมปทานหรือต่ออายุสัมปทานแก่เอกชนรายใหญ่กรณีการพิสูจน์สิทธิยังไม่แล้วเสร็จหรือหากข้อพิพาทถูกนาขึ้นสู่ศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ส่วนกรณีที่มีการเดินสำรวจออกเอกสารสิทธิ กรณีจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือกรณีมีการให้เช่าที่ดินของรัฐ ควรให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่เคยบุกรุกที่ดินของรัฐก่อน ลำดับถัดมาจึงให้สิทธิแก่ผู้บุกรุกซึ่งยินยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
                              (๔) ควรกระจายการถือครองที่ดิน เช่น ปรับปรุงเครื่องมือทางภาษีทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรมีการสำรวจทางอากาศที่ดินในประเทศอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าทุก ๕ ปี และปรับปรุงบทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งแนวทางปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้เอกชนที่ถือครองที่ดินละทิ้งที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์
                              (๕) ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้
                              (๖) ควรสนับสนุนสิทธิร่วมของชุมชน (Common Property) เพื่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economics, Social and Cultural Rights : ICESCR) โดยให้ชุมชนมีสิทธิร่วมกันเพื่อจะทำให้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของตนและของชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยให้สิทธิและหน้าที่แก่คนในพื้นที่ที่จะบริหารจัดการทรัพยากรในบริเวณที่กำหนดตามความต้องการของกลุ่มภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ และภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้กากับดูแล ติดตามประเมินผล นอกจากนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า ให้ใช้หลักคิดสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้การกำหนดแนวเขตที่ดินป่าไม้เป็นเรื่องของประชาชน ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตกลงกันเอง โดยไม่ยึดติดกับแนวเขตป่าไม้เดิมที่ประกาศในกฎหมาย
                              (๗) ควรดำเนินการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals :SDGs) เพื่อป้องกันและแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน สนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเกษตรให้เอกชนสามารถเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัด และสนับสนุนให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแทนการให้เกษตรกรมุ่งผลิตและจาหน่ายผลิตภัณฑ์ขั้นปฐมภูมิอย่างเดียว รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กระทบต่อประชาชนทุกคนในประเทศ และเพื่อลดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้นกาเนิดของชีวิต และควรจัดสรรพื้นที่ฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลระหว่าง “ป่าอนุรักษ์” ที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำ ก๊าซ และอาหาร, “ป่าเศรษฐกิจ” ที่ต้นไม้หมุนเวียนมีอัตราการดูดซับก๊าซเรือนกระจกมาก และ “ป่าชุมชน” ซึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม

                    ๑.๒ คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการให้กรมป่าไม้ กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแนวทางปฏิบัติในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนให้คานึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทาซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกของกฎหมาย ก่อนการใช้อำนาจจับกุมหรือขับไล่ราษฎร รวมถึงกำหนดให้ต้องมีคำสั่งทางปกครองเพื่อแจ้งให้ราษฎรออกจากพื้นที่หรือปฏิบัติตามกฎหมายก่อน และต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                    ๑.๓ คณะรัฐมนตรีควรให้คำมั่นแก่ราษฎรและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินการขับไล่หรือไล่รื้อผู้บุกรุกรายใหม่ซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ควรช่วยเหลือ หลังจากที่ได้พิสูจน์สิทธิตามหลักเกณฑ์ที่ กสม. เสนอแนะ และคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิพลเมืองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) และเพื่อให้ประกันว่าการไล่รื้อ (Forced Evictions) จะถูกใช้เป็นวิธีการสุดท้าย ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights : ICESCR) นอกจากนั้น ในการจับกุม เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่ควรกระทำโดยการเหยียดหยามต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข่มขู่ คุกคาม ใช้กำลังบังคับ หรือปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

          ๒. ข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
          เนื่องจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่เป็นธรรม ในเรื่องการหวงกันที่ดินที่ยังไม่มีผู้ได้สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินให้เป็น “ป่า” ทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และบังคับให้ราษฎรสละการครอบครองที่รกร้างว่างเปล่า โดยผลของกฎหมายปิดปากตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ รวมถึง การไม่ให้สิทธิโต้แย้งคัดค้านไว้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น กสม. จึงเสนอแนะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังต่อไปนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

                    ๒.๑ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ โดยควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงนิยามคาว่า “ป่า” ให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพและสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยให้หมายถึงเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีความชุ่มชื้น มีพันธุ์ไม้หลากชนิด และมีระบบนิเวศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมถึงพื้นที่ที่มีกฎหมายโดยที่ราษฎรมีส่วนร่วมกำหนดให้เป็นป่า
                    ๒.๒ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ในมาตราดังต่อไปนี้
                              (๑) มาตรา ๑๒ เห็นควรแก้ไข ดังนี้
                                        (๑.๑) พิจารณากำหนดเงื่อนเวลายื่นคำร้องจากเดิม ๑๒๐ วัน เป็น ๑ ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ
                                         (๑.๒) แก้ไขความตอนท้ายของมาตรา ๑๒ จาก “...ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น” เป็น “...ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนของชุมชน”
                              (๒) มาตรา ๑๓ เห็นควรยกเลิกความในวรรคแรกและใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“เมื่อคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดได้รับคำร้องตามมาตรา ๑๒ แล้ว ให้สอบสวนตามคำร้องนั้นประกอบภาพถ่ายทางอากาศและพยานหลักฐานอื่น ๆ ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีให้เพิกถอนกฎกระทรวงเฉพาะพื้นที่ที่ได้ครอบครองมาก่อนดังกล่าว เว้นแต่การเพิกถอนเช่นนั้น จะกระทบเสียหายต่อความสมดุลยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในสาระสำคัญ ให้คณะกรรมการพิจารณาค่าทดแทนให้ตามสมควร” และ
                              (๓) มาตรา ๑๔ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๒ เห็นควรเพิ่มข้อความต่อไปนี้ใน (๓) ของมาตราดังกล่าวว่า “(๓) พิสูจน์ได้ว่าครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณดังกล่าวมาก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ และการกระทำดังกล่าวไม่เสื่อมเสียแก่ความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ”
                    ๒.๓ สำหรับเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้สิทธิในการยื่นคำร้องและโต้แย้งคัดค้านทานองเดียวกันกับมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ ตามที่เสนอข้างต้นด้วย

          ทั้งนี้ กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินให้เป็นไปอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และช่วยลดผลกระทบอันเกิดจากการใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีต่อราษฎร
 --------------------------------------------------------------------

 

25/04/2560

เลื่อนขึ้นด้านบน