กสม. มีมติหยิบยกตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนายชัยภูมิ ป่าแส ชาวลาหู่ ถูกวิสามัญฆาตกรรม

22/03/2560 116

เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ โดยทหารสังกัดกองร้อยทหารม้าที่ ๒ บก.ควบคุมที่ ๑หน่วยเฉพาะกิจทหารม้าที่ ๕ ที่ตั้งจุดตรวจค้นยาเสพติดบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และจับกุมนายพงศนัย  แสงตะล้า พร้อมยาบ้าจำนวน ๒,๘๐๐ เม็ดนั้น
          นายชาติชาย  สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม  เปิดเผยว่า  นับจากวันที่เกิดเหตุการณ์   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  และขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย  อีกทั้งมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
          ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีมติหยิบยกกรณีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง  ดังนั้น ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจะเร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว  ซึ่งจะรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจ จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต รวมถึงกระบวนการชันสูตรพลิกศพและการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้หรือล่าช้าหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
          สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดียาเสพติดนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดในรถคันดังกล่าว เพื่อส่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อไป  ส่วนกรณีอ้างว่านายชัยภูมิฯ เสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและผลการชันสูตรพลิกศพ เพื่อเสนอให้พนักงานอัยการขอให้ศาลไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถที่จะเสนอพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งต่อศาลได้ และศาลจะทำหน้าที่วินิจฉัยและมีคำพิพากษา ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดไว้ว่า หากประเด็นที่กำลังตรวจสอบอยู่ มีการพิจารณาคดีในศาลหรือศาลมีคำพิพากษาแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่อาจตรวจสอบในประเด็นนั้นได้
          สำหรับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จะได้นำเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อจัดทำเป็นรายงาน และหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมีข้อเสนอแนะให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไข และคู่กรณีอาจนำไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการไต่สวนการตาย หรือการดำเนินคดียาเสพติดในชั้นศาลได้
          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง  หากมีผลคืบหน้าประการใด  จะรายงานให้สาธารณชนทราบในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป 
 
 
 นายชาติชาย  สุทธิกลม
                                                                                                 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
                                                                                                                                     ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐

22/03/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน