ข่าวแจก ประธาน กสม.ยืนยัน จะยกระดับงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยให้ประจักษ์แก่ชาวโลกต่อไป หลังถูกลดชั้นจาก A เป็น B

01/03/2560 119

          ตามรายงานข่าวในสื่อมวลชนบางฉบับว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาเรื่อง “ การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ....” ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ โดยระบุว่า การทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีปัญหา เนื่องจากที่มาของ กสม. ยังไม่มีความหลากหลาย ไม่มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมามีส่วนร่วมในการสรรหาและขาดความโปร่งใสในการสรรหานั้น

          นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ ๓) ได้แก้ไขปัญหาโดยการชี้แจงต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จนร่างรธน. ฉบับใหม่ ได้บัญญัติไว้ในมาตราที่ ๒๔๖ วรรคสี่ ว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับการสรรหา กสม. ต้องกำหนดให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย

          ประธาน กสม. กล่าวต่อว่า กฎหมายไทย ไม่มีบทบัญญัติว่า ประธาน กสม. และ กสม. ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา หากได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต (Immunity: ความคุ้มกัน) กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ ๓) ได้เสนอแนวความคิดในการแก้ไขปัญหานี้ต่อ กรธ. โดยขอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้เสนอให้บัญญัติไว้ใน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พรป.) มาตรา ๓๒ ซึ่ง กสม. หวังว่า พรป. ว่าด้วย กสม. จะมีบทบัญญัตินี้ ทำนองเดียวกับ พรป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๑๘ ที่ระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา เนื่องจากการที่ตนได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แบบเดียวกับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๒๑

          ส่วนที่ประธาน กรธ. กล่าวว่า เพราะ กสม. ทำรายงานประจำปีล่าช้า จึงถูกลดสถานะจาก A เป็น B ประธาน กสม. กล่าวว่า ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะรายงานประจำปีของ กสม. ส่งให้รัฐสภาไทย และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่เป็นเหตุให้ กสม. ไทยถูกลดสถานะลง

          ประธาน กสม. ย้ำว่า ที่ กสม. ไทยถูกลดสถานะจาก A เป็น B ไม่เกี่ยวกับรายงานประจำปีล่าช้า แต่เกี่ยวกับปัญหาเดิมๆ ๓ ประการคือ ๑.ปัญหากระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ๒.การไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิอย่างทันท่วงที และ ๓. ขาดบทบัญญัติที่ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ในกรณีได้ทำหน้าที่โดยสุจริต

          ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ ๓) เข้าทำงานได้เพียง ๑ ปีเศษเท่านั้น และได้พยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นมาโดยตลอด รวมทั้งจะผลักดันแก้ไขปัญหาที่ถาถมเข้ามาทุกๆด้านต่อไปเพื่อให้งานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยยกระดับเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกต่อไป

 

วัส ติงสมิตร 
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
๓๐ มกราคม ๒๕๖๐

30/01/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน