กสม.สุภัทรา เป็นวิทยากรร่วมอภิปราย เรื่อง กระบวนการตรากฎหมายไทย : บทบาทที่ท้าทายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ

04/05/2567 876

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.45 -12.45 น. ที่ห้องสุโขทัยธรรมราชา สถาบันพระปกเกล้า นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรร่วมอภิปราย เรื่อง กระบวนการตรากฎหมายไทย : บทบาทที่ท้าทายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ ในโครงการสัมมนาวิชาการคนการเมือง เรื่อง “รัฐสภาไทย : บทบาทในการสนองตอบต่อประเด็นปัญหาประเทศชาติและประชาชนอย่างทันการณ์และทันเกม ” จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือนายณัฐวุฒิ บัวประทุม กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และ Mr.Edmond Efendija ผู้อำนวยการประจำสำนักงานประเทศไทย สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย (National Democratic Institute: NDI) ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะภายใต้พันธกิจส่งเสริมงานวิชาการรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา กรรมาธิการ และบุคลากรในวงงานรัฐสภา

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และนิยามของ “สิทธิมนุษยชน” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ของบุคคล บรรดาที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย หรือตามหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลไกนิติบัญญัติหรือการตรากฎหมายต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การตรากฎหมายสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ กสม. มีกลไกติดตามการเสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร และมีการจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรขอความเห็นมา หรือในบางกรณีแม้จะไม่ขอความเห็น แต่เห็นเองว่ามีความเกี่ยวข้องต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะทำความเห็นไป เพื่อให้กระบวนการตรากฎหมายมีความรอบด้าน กระบวนการตรากฎหมายมี 3 แนวทาง คือ 1) เสนอโดย คณะรัฐมนตรี 2) เสนอโดย ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เข้าชื่อกัน และ 3) เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนมองว่าเป็นเรื่องยากและไม่ยุติธรรมที่ต้องรอร่างกฎหมายในส่วนของภาครัฐมาประกบและยังถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินเกือบทั้งหมด จึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อน หากนายกรัฐมนตรีไม่รับรองก็ตกไป ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนอย่างน้อยควรได้รับการบรรจุให้สภาฯพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ ซึ่งต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

          นางสาวสุภัทรา กล่าวเน้นย้ำว่า การตรากฎหมาย คนทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติต้องเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น ต้องก้าวข้ามแนวคิดสังคมสงเคราะห์กลุ่มเฉพาะมาเป็นการรับรองสิทธิ และต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องเป็น Meaningful participation ไม่ใช่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น  และต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence based) มาประกอบการพิจารณา ไม่ใช้ความรู้สึกหรือคิดเอาเอง

เลื่อนขึ้นด้านบน