กสม. ศยามล ลงพื้นที่และประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยของเทศบาล ต.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ .

07/05/2567 916

         เมื่อวันที่ 2 - 3 พฤษภาคม 2567 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่และประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินโครงการระบบจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีกำหนดการ ดังนี้

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ตำบลหลักเมืองและตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้หารือร่วมกับผู้ร้องและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 บ้านบึงไฮ ตำบลหลักเมือง และหมู่ที่ 13 บ้านโปโล ตำบลกมลาไสย เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และที่ทำกินของประชาชน รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโครงการ เพื่อดูสภาพพื้นที่โดยรอบและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

          จากนั้น เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลกมลาไสย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้ประชุมร่วมกับผู้ร้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เทศบาลตำบลกมลาไสย และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาและการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การขออนุญาตดำเนินโครงการ ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

          วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมผาเสวย ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้ประชุมร่วมกับ นายธวัชชัย จันทร์งาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ร้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อำเภอกมลาไสย เทศบาลตำบลกมลาไสย เทศบาลตำบลหลักเมือง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 5 อุบลราชธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของโครงการ การพิจารณาอนุญาตให้ความเห็นชอบโครงการและการประกอบกิจการโรงงาน ความเหมาะสมของที่ตั้ง ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน