กสม. จัดเวทีมองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์ระดมนักวิชาการและผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ นำเสนอมุมมองและผลกระทบด้านสิทธิฯ ต่อประชาชน

15/05/2567 847

          วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 12.30 น. ที่ห้อง BB202 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวปิดเวทีการนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ เรื่อง “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” โดยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ได้มีแนวนโยบายรวมถึงการดำเนินการเพื่อดำเนิน “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้” หรือ Southern Economic Corridor: SEC ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยจะมี “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โครงการแลนด์บริดจ์” เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

          โครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบไปด้วย ท่าเรือ เส้นทางรถไฟทางคู่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางใหม่ที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลและหลายอำเภอของจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า โครงการแลนด์บริดจ์ อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ จึงได้ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ The Active ThaiPBS จัดเวทีนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ เรื่อง “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” ครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ มานำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการต่อโครงการแลนด์บริดจ์ให้ กสม. ผู้สื่อข่าว และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบ 

          จากการรับฟังความคิดเห็นทางวิชาการ เห็นว่า การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่ในลักษณะข้างต้น มีหลักสิทธิมนุษยชนและประเด็นสำคัญในมิติต่าง ๆ ดังนี้ 

          (1) สิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ และถนนมอเตอร์เวย์ ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนอาจกระทบต่อประชาชนที่ทำมาหากินหรือประกอบอาชีพโดยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าว 

          (2) สิทธิในที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพืชผล

          (3) สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของท่าเรือ ทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ และอุตสาหกรรมหลังท่า 

          (4) สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกับวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง 

          (5) สิทธิในสิ่งแวดล้อม ที่บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินโครงการ ทั้งผลดีผลเสีย ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในทุกมิติ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ตลอดจนขั้นตอนทางกฎหมาย มาตรการในการดำเนินการตั้งแต่กระบวนการให้อนุญาตดำเนินโครงการ  ระหว่างดำเนินการ และภายหลังการดำเนินการโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนรับรู้ข้อมูลของโครงการที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคใต้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งร่วมตัดสินใจต่อแผนการดำเนินการโครงการ 

          (6) การพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยจะต้องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุน การใช้ระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และยุติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

          (7) ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและภาครัฐต่อหลักสิทธิมนุษชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยพิจารณามาตรการทั้งหมดที่ทำได้ในการปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอนบนหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล และให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักป้องกันไว้ก่อน และหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ภาคธุรกิจต้องมีความรับผิดในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญต่อการกำหนดเป็นแนวนโยบายและการปฏิบัติการขององค์กรในการเฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีกลไกร้องทุกข์และการเยียวยา 

          กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับความเป็นมาและความคุ้มค่าของโครงการ ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในมิติการขนส่งและการค้าทางทะเล การก่อสร้างโครงการ (ท่าเรือ ถนน รถไฟ) ตลอดจนข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าบก ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับการเผยแพร่ไปยังประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ การไตร่ตรองในการดำเนินโครงการอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาของรัฐที่สำคัญต่อไป

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน