กสม. จัดเวที “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” นำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการต่อสาธารณะ

15/05/2567 862

          วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ The Active ThaiPBS จัดเวทีวิชาการ เรื่อง “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ มานำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการต่อโครงการแลนด์บริดจ์ให้ กสม. ผู้สื่อข่าว และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบ ณ ห้อง BB202 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

 

          นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดเวที สรุปว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือที่เรียกกันว่า “โครงการแลนด์บริดจ์” ซึ่งจะเกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนการสร้างท่าเรือ เส้นทางรถไฟทางคู่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลและหลายอำเภอของจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง อาจส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตการทำมาหากิน และมีผลกระทบต่อประชาชนชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชาวประมงพื้นบ้าน หรือคนไทยพลัดถิ่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดำเนินโครงการจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งสิทธิชุมชนและสิทธิในการมีส่วนร่วมและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งต้องพิจารณาถึงการสร้างสมดุลของการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาลกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างด้วย การจัดเวทีในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สาธารณะและภาคส่วนต่าง ๆ จะได้รับทราบข้อมูลที่รอบด้านทั้งผลดีและผลเสียต่อการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งนี้ กสม. ขอเน้นย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องไม่เบียดบังหรือละเมิดสิทธิของใคร และจะต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

 

          จากนั้น มีการให้ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” ในประเด็น “ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบ” โดยวิทยากรประกอบด้วย (1) นายสมบูรณ์  คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) (ผ่านระบบออนไลน์)  (2) พล.ร.ต. จตุพร  ศุขเฉลิม ผู้เชี่ยวชาญการบริหารงานท่าเรือและขนส่งทางทะเล (3) นายอัตถพงษ์  ฉันทานุมัติ วิศวกรอิสระ (4) ดร.พิรียุตม์  วรรณพฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (5) ดร.ชวลิต  วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (ผ่านระบบออนไลน์) และ (6) ดร.ศักดิ์อนันต์  ปลาทอง นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผ่านระบบออนไลน์) ดำเนินรายการโดย นางสาวบุศย์สิรินทร์  ยิ่งเกียรติกุล The Active ThaiPBS

 

          ช่วงสุดท้ายของเวที มีการแถลงข่าวปิดโดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้กล่าวถึงหลักสิทธิมนุษยชนและผลกระทบที่สำคัญของโครงการที่ควรคำนึงถึงในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ดินและทรัพย์สิน สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมี สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและภาครัฐต่อสิทธิมนุษชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

 

          นางสาวศยามล กล่าวปิดท้ายว่า กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นทางวิชาการที่ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ จะได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ การไตร่ตรองในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์อย่างระมัดระวังต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน