กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 16/2567 กสม. ตรวจสอบกรณีตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุม แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย - กสม. ประชุมร่วมสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก นำเสนอผลงานด้านการป้องกันการทรมาน ร่วมผลักดันประเด็นการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

17/05/2567 1033

            วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 16/2567 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้ 

            1. กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. ดอยสะเก็ด ไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรดอยสะเก็ด (สภ.ดอยสะเก็ด) จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของนาย อ. และภรรยา เพื่อค้นหายาเสพติด โดยไม่แสดงหมายค้นและหมายจับและไม่บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้น รวมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้เป็นหลักฐาน ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 33 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ได้ให้การรับรองว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย โดยจะถูกจับหรือคุมขังมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐจึงมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองและประกันสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา นอกจากนั้น บุคคลยังมีเสรีภาพในเคหสถาน การเข้าค้นเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด ได้ทำการล่อซื้อยาเสพติดจากนาย อ. ซึ่งนาย อ. ได้ขับรถจักรยานยนต์นำยาเสพติดมาส่งมอบให้แก่ผู้ล่อซื้อ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เฝ้าสังเกตการณ์และเห็นการกระทำดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ อย่างไรก็ตามในขณะเข้าจับกุม นาย อ. ได้หลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงติดตามนาย อ. ไปที่บ้านพัก และได้พบกับภรรยาของนาย อ. เจ้าหน้าที่แสดงตนว่าเป็นตำรวจและมาเพื่อติดตามจับกุมรวมทั้งสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับนาย อ. โดยได้นำผู้ใหญ่บ้านในท้องที่มาเป็นพยานการตรวจค้นด้วย ซึ่งภรรยานาย อ. ได้ให้ความยินยอมและเป็นผู้นำตรวจค้นภายในบ้านด้วยตนเอง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่หรือบังคับภรรยานาย อ. ให้ความยินยอมในการตรวจค้นแต่อย่างใด ภรรยานาย อ. ยังได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในบันทึกการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นไว้เป็นหลักฐานด้วย ดังนั้น การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) นอกจากนี้ เมื่อมีการตรวจค้นยังพบยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ซุกซ่อนอยู่บริเวณภายในบ้านพัก กรณีนี้เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจจับกุมภรรยานาย อ. โดยไม่ต้องมีหมายจับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

            ต่อมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย อ. ได้ติดต่อเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่ สภ.ดอยสะเก็ด โดยให้การยอมรับว่า ยาเสพติดที่มีการล่อซื้อ และที่มีการค้นพบภายในบ้านพักนั้นเป็นของตน ผู้ถูกร้องจึงมีอำนาจแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายแก่นาย อ. รวมทั้งควบคุมตัวเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ดังนั้น แม้การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ดในการเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมตัวภรรยานาย อ. และการควบคุมตัวนาย อ.จะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในเคหสถานก็ตาม แต่เป็นการกระทำไปโดยอาศัยเหตุตามกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            สำหรับประเด็น การตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นภายในบ้านพักนาย อ. และพบยาเสพติด จึงมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 98 สามารถยึดทรัพย์สินหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ของภรรยานาย อ. เพื่อตรวจสอบข้อมูลการกระทำความผิดได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่เสร็จสิ้นแล้ว และไม่พบการกระทำความผิด ได้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ภรรยานาย อ. โดยภรรยานาย อ. ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนาย อ. นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้

            อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีไม่บันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัว หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา ข้อ 4 ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบันทึกภาพและเสียงในขณะตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญาไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้ เว้นแต่มีเหตุอันที่ไม่อาจดำเนินการได้ ก็ให้บันทึกเหตุแห่งการนั้นไว้ ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำการจับและควบคุมบุคคลจะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐาน

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพักของนาย อ. ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะตรวจค้นและจับกุมภรรยานาย อ. มีเพียงการบันทึกภาพภรรยานาย อ. ชี้ยืนยันของกลางยาเสพติดที่ตรวจค้นเจอภายในบ้านพักเท่านั้น ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงการตรวจค้นให้ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นกระทำที่ไม่สอดคล้องตามกฎหมายและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จึงมีมติเห็นควรให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก นอกจากนี้ ให้ ตร. สนับสนุนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการบันทึกภาพและเสียงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทุกท้องที่ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา โดยเร่งด่วนต่อไป

 

                2. กสม. ร่วมประชุมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก นำเสนอผลการดำเนินงานด้านการป้องกันการทรมาน ร่วมผลักดันประเด็นการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ

            นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 - 10 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ประจำปี 2567 หรือการประชุม GANHRI 2024 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

            ในการประชุม GANHRI 2024 สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในปี 2567 โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นการป้องกันและต่อต้านการทรมาน การคุ้มครองสิทธิของผู้หนีภัยความไม่สงบ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ตลอดจนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิทธิมนุษยชน

            โอกาสนี้ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนในหัวข้อ ประสบการณ์และแนวทางการนำปฏิญญาเคียฟ-โคเปนเฮเกน (Kyiv-Copenhagen Declaration) ว่าด้วยบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการป้องกันและต่อต้านการทรมาน ไปดำเนินการ โดยนำเสนอถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการของ กสม. ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งครอบคลุมบทบาทด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น ห้องขังของสถานีตำรวจ เรือนจำ ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบ และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวดังกล่าว การติดตามการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการกระทำทรมาน การรณรงค์และสนับสนุนให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Optional Protocol to the Convention Against Torture) หรือ OPCAT เพื่อให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism) หรือ NPM ในการทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะภายใน กสม. เพื่อป้องกันและติดตามการทรมาน และเตรียมความพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นกลไก NPM หาก กสม. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

            ที่ประชุม GANHRI 2024 ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการส่งเสริม การเฝ้าระวัง การรายงาน และการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนการผลักดันให้มีการนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ UNGPs ทั้งด้านการคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา ไปเป็นกรอบในการดำเนินงานของทุกภาคส่วน โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านนี้ในบริบทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกจะขับเคลื่อนร่วมกัน ผ่านการผลักดันมาตรการหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะการกำกับดูแลภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งจะร่วมกันเฝ้าระวังและรายงานผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจ

            นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมพื้นที่ของภาคประชาสังคมในโลกออนไลน์ (Online civic space) การแก้ไขและป้องกันผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้เครื่องมือทางด้านนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ

             นอกจากการเข้าร่วมประชุมประจำปี GANHRI 2024 แล้ว คณะผู้แทน กสม. ยังได้พบกับผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การพบเลขาธิการสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (Association for Prevention of Torture ) หรือ APT เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในการป้องกันและต่อต้านการทรมาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสำนักงาน กสม. ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว การพบกับผู้อำนวยการ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรด้านการส่งเสริมกระบวนการพูดคุยและไกล่เกลี่ย เพื่อป้องกัน บรรเทา และแก้ไขความขัดแย้ง ในประเด็นกระบวนการพูดคุยสันติสุขในชายแดนใต้และกระบวนการสมานฉันท์ปรองดองในสังคมไทย การพบกับผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา และผู้แสวงหาที่พักพิงจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งได้เข้าพบผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรมของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ในประเด็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายด้วย

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

17 พฤษภาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน