กสม. สุภัทรา ร่วมการเปิดตัวรายงาน อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

17/05/2567 1467

          เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมการเปิดตัวรายงาน อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง : ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย  จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ณ ห้องฟังก์ชัน 11 ชั้น 11 โรงแรมสยาม @ สยาม กรุงเทพฯ

 

          รายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง” (Being Ourselves is Too Dangerous) แสดงเรื่องราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวโดยสันติท่ามกลางพื้นที่พลเมืองที่หดตัวลงนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2557  รายงานดังกล่าวค้นพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้กำลังเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology Facilitated Gender Based Violence : TfGBV) รวมถึงการสอดส่องติดตามโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการเฝ้าสอดแนมทางดิจิทัล แบบกำหนดเป้าหมายโดยใช้สปายแวร์เพกาซัส ซึ่งมีหลักฐานชี้ว่าเป็นไปได้อย่างสูงที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และการโจมตีบัญชี Facebook ส่วนตัว โดยทำทีเป็นบุคคลที่รู้จักหรือต้องการเชื่อมต่อด้วยเพื่อหลอกให้แชร์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ดาวน์โหลดไฟล์อันตราย หรือแชร์คลิกลิ้งก์อันตรายเพื่อขโมยข้อมูล และการคุกคามทางโลกออนไลน์ด้วยการใช้ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการดูหมิ่นเหยียดหยาม ปฏิบัติการพุ่งเป้าโจมตีเพื่อใส่ร้ายป้ายสี การจงใจเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (Doxing) และการข่มขู่ใช้ความรุนแรง ไม่มีความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยา และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต การบ่อนทำลายความเชื่อใจ และถูกผลักให้เงียบเสียงหรือปิดปาก ทำให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องจำกัดหรือยุติการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ และมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลถึงความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐที่ต้องกำหนดมาตรการป้องกันความรุนแรงทางออนไลน์โดยเฉพาะความรุนแรงที่มีฐานมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศและโครงสร้างทางอำนาจ

 

          ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีกำหนดเข้าพบและหารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันอังคาร ที่ 21 พฤษภาคม 2567 นี้ เพื่อนำคณะนักวิจัยระดับโลกและระดับภูมิภาคในโครงการ มาพูดคุยถึงข้อค้นพบหลักในงานวิจัย และแนวทางความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน