คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 1/2562 กรณีรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์

09/07/2562 213

 

คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๑/๒๕๖๒
กรณีรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์
 
                   ตามที่องค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch : HRW) เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ ๒๙ ประจำปี ๒๕๖๒ (World Report 2019) ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี ๒๕๖๑ อยู่หลายประเด็น นั้น
                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมกสม. จึงได้ตรวจสอบเพื่อชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อกรณีตามรายงานข้างต้นเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ ดังนี้
                   ในภาพรวม กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยขององค์กรฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงปี ๒๕๖๑ ได้นำเสนอเนื้อหาหลายประการที่เป็นประเด็นเดียวกับที่ปรากฏในรายงานฉบับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีบางเรื่องที่ กสม. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมและได้มีการชี้แจงไปแล้ว ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน กรณีเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ การแก้ไขกฎหมายที่ทำให้ กสม. ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ กรณีความรุนแรงและการปฏิบัติที่มิชอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว กสม. ขอยืนยันข้อมูลตามคำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๑
                   สำหรับเนื้อหาในรายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประจำปี ๒๕๖๑ ส่วนอื่น ๆ นั้น กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีบางเรื่องที่รายงานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม จึงได้ทำการตรวจสอบและจัดทำคำชี้แจง รวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นดังกล่าวดังนี้
                    ๑. เสรีภาพในการแสดงออก
                       ๑.๑ กรณีที่รายงานว่า รัฐบาลชะลอการยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างเข้มงวด ทั้งที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แล้ว 
                       จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีผลให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนหลายฉบับ รวมทั้งการยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า ๕ คนขึ้นไปตามข้อ ๑๒ ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป และปัจจุบันก็มีการเลือกตั้งแล้ว
                       ๑.๒ กรณีที่รายงานว่านักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างน้อย ๑๓๐ คน ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และบางคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นจากการเรียกร้องอย่างสงบ ให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งโดยไม่ให้มีการชะลอออกไป และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยทันที
                       จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๒๒/๒๕๖๑ ดังกล่าวข้างต้น ได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ข้อ ๑๒  ทำให้ศาลจำหน่ายคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย พบว่าในบางกรณีที่รัฐสกัดกั้นการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เช่น การจัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ของเครือข่ายประชาชน People Go Network เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๑ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย รวมทั้งให้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดูแลการชุมนุมสาธารณะและรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด เป็นผลให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ เป็นต้น
                    ๒. ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ
                       ๒.๑ กรณีที่รายงานว่ามีการจับและควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกว่า ๒๐๐ คนจากเวียดนาม กัมพูชา และปากีสถานในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่มีสภาพเลวร้าย มีการแยกเด็กกว่า ๕๐ คน ออกจากพ่อแม่
                       จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในประเด็นแยกเด็กออกจากบิดามารดาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MoU) เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อไม่ให้มีการคุมขังเด็กในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามนโยบายของรัฐบาล การจัดทำ MoU มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการไม่กักตัวเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีไว้ในสถานกักตัวฯ โดยจะจัดให้เด็กและมารดาอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรืออยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคม และหามาตรการในการช่วยเหลือในระยะยาว และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีระบบคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองและคุ้มครองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. ....
                       ๒.๒ กรณีที่รายงานว่าสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (NFAT) ซึ่งมีอิทธิพลได้รณรงค์ต่อต้านการให้สัตยาบันและการดำเนินงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ซึ่งจะให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอกับคนงานประมงที่เสี่ยงภัย
                       จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทย มีพันธกรณีต้องดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมงตามที่กำหนดในอนุสัญญาฯ และต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว
                       ๒.๓ กรณีที่รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐจัดให้ประเทศไทยอยู่ใน Tier 2 ในรายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ และคณะมนตรียุโรปได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในเรือประมงไทย โดยได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีการคว่ำบาตรทางการค้าเนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU fishing)
                       จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) ของไทย
                       จึงชี้แจงมาเพื่อทราบทั่วกัน
ตามเอกสารแนบ
 
 

 

09/07/2562
เลื่อนขึ้นด้านบน