คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๒/๒๕๖๒
กรณีการรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๖๑
ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสารรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๖๑ (Country Reports on Human Rights Practices for 2018) ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี ๒๕๖๑ นั้นที่ ๒/๒๕๖๒
กรณีการรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ๒๕๖๑
ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมและเห็นควรจัดทำคำชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ โดยในรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ ในส่วนของประเทศไทยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๗ หมวด มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อาจไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งควรชี้แจงในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. หมวด ๒ การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง
กรณีที่รายงานว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อจำกัดของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” อย่างไรก็ดี คำสั่ง คสช. ที่ประกาศใช้ภายใต้มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และยังมีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังคงห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและกำหนดบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองใด ๆ ก็ตาม
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๒๒/๒๕๖๑ เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนหลายฉบับรวมทั้งการยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไปตามข้อ ๑๒ ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป และหลังจากการยกเลิกคำสั่งฉบับนี้มีข้อมูลว่าศาลยุติธรรมและศาลทหารมีคำพิพากษายกฟ้องและจำหน่ายคดีความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนแล้วจำนวนหนึ่ง
๒. หมวด ๕ ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณีที่รายงานว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้อง ๒๒๕ เรื่อง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๐ จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๖๑ ในจำนวนนี้มี ๓๖ เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน
ขอชี้แจงว่าตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับเป็นคำร้อง จำนวน ๒๓๒ เรื่อง ในจำนวนนี้มีกรณีข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำมิชอบโดยตำรวจ จำนวน ๙ เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบฯ เรียบร้อยแล้ว จำนวน ๕ เรื่อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน ๔ เรื่อง
ในประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียนนั้น ขอชี้แจงว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้กำหนดให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้ร้องเรียน แต่ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นไปมาตรา ๓๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญาและผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ กสม. ได้ออกแนวปฏิบัติในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายในคดีอาญาแล้วเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
จึงชี้แจงมาเพื่อทราบทั่วกัน
ตามเอกสารแนบ