คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ 3/2563 กรณีรายงานเรื่อง “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ : ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

02/06/2563 1389

 

คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๓/๒๕๖๓
กรณีรายงานเรื่อง “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ : ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย”
ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 
                   ตามที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “มีคนจับตาดูอยู่จริง ๆ : ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” (They are always watching : Restrictions on freedom of expression online in Thailand) เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓ นั้น
                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณารายงานดังกล่าวตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ แล้วเห็นว่า รายงานมุ่งนำเสนอความเห็นต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกออนไลน์ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ จนถึงปี ๒๕๖๒ ที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลและมุ่งให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งไม่เข้าลักษณะรายงานที่ กสม.พึงจัดทำคำชี้แจงตามหน้าที่และอำนาจข้างต้น คงเหลือแต่เนื้อหาในรายงานบางส่วนมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมจึงขอชี้แจงรวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
                   กรณีรายงานระบุว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกในปี ๒๕๔๘ และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนอื่น หากผู้ใดละเมิดข้อกำหนดที่คลุมเครือของกฎหมาย นั้น
                   ขอชี้แจงว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ส่วนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓  มาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) เป็นการห้ามเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙) ที่ไม่เป็นความจริงหรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด เป้าหมายของมาตรการนี้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการสื่อสารในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ระบุว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคมีความสำคัญต่อการป้องกันความสับสน ข่าวลือ และความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลกระทบต่อควบคุมโรคและอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยที่โรคโควิด-๑๙ สามารถแพร่ระบาดในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว การใช้กฎหมายปกติ เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ อาจไม่เพียงพอต่อการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อสถานการณ์และจำเป็นต้องออกข้อกำหนดห้ามการนำเสนอข่าวเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-๑๙ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยรวมตามเงื่อนไขในข้อ ๔ และข้อ ๑๒ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี
                   จึงชี้แจงมาเพื่อทราบทั่วกัน 

รายละเอียดตามเอกสารแนบ
 

 

02/06/2563
เลื่อนขึ้นด้านบน