คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 4/2563 กรณีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2562 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

11/09/2563 56

คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๔/๒๕๖๓
กรณีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒
ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
 
                   ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสารรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ (2019 Human Rights Report) ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี ๒๕๖๒ นั้น 
                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางประเด็นที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม จึงเห็นควรจัดทำคำชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ ในประเด็นดังต่อไปนี้
                   ๑. หมวดที่ ๑ การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจากการสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมายหรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง
                   ๑.๑ กรณีรายงานกล่าวว่า มีรายงานจำนวนมากระบุว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ๆ ได้สังหารผู้ต้องสงสัย ๓๙ รายขณะดำเนินการจับกุมระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ อันเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ ถึงกว่า ๓ เท่า ทางการระบุว่า จำนวนที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกับผู้ค้ายาติดอาวุธทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมักจะอยู่ตาม
แนวชายแดนพม่า

                   กสม. ขอชี้แจงว่า การกล่าวอ้างว่ามีการสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมาย ๓๙ ราย ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ นั้น เป็นการอ้างสถิติโดยไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าวได้ จากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของ กสม. หลายกรณีพบว่า การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยมีกรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างการต่อสู้ในขณะจับกุม แต่บางกรณีไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ
                   ๑.๒ กรณีรายงานระบุว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากการกระทำในระหว่างปฏิบัติตามหน้าที่ นับจนถึงเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ทั้งนี้ มี ๔ อำเภอที่ได้รับการยกเว้นจากพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก่ อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
                   กสม. ขอชี้แจงในประเด็นการให้ความคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่เฉพาะกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเท่านั้น[๑]  สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นจากการอยู่ภายใต้พระราชกำหนดฯ ซึ่งรายงาน ฯ ระบุว่ามี ๔ อำเภอนั้น ขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ในอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เพิ่มเติมอีก ๑ อำเภอ ปัจจุบัน จึงมีพื้นที่ที่ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวรวมเป็น ๕ อำเภอ
                   ๑.๓ กรณีรายงานระบุว่า องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐรายงานว่า ในบางครั้งทางการควบคุมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้อง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทางการควบคุมเยาวชนอายุเกิน ๑๔ ปีรวมกับผู้ใหญ่
                   กสม. ขอชี้แจงในประเด็นการคุมขังเด็กว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กที่กระทำผิดโดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการคุมขังเด็กและเบี่ยงเด็กออกจากกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด ส่วนกรณีเด็กเข้าเมืองผิดกฎหมาย กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า ควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการกักตัวเด็กที่ติดตามผู้ปกครองเพื่อแสวงหาที่พักพิงในระหว่างรอการส่งกลับประเทศต้นทางหรือเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามโดยให้เด็กมีโอกาสอยู่ร่วมกับผู้ปกครองในสถานที่ที่เหมาะสม[๒] และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำบันทึกความเข้าใจเพื่อมิให้มีการควบคุมตัวเด็กในห้องกักโดยจัดให้เด็กและมารดาอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัวภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[๓]
                   ๒. หมวดที่ ๒ เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน
                   กรณีรายงานระบุว่า ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ๗๖ ฉบับ ซึ่งรวมถึงฉบับที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย “ประทุษร้าย” และ “ข้อมูลบิดเบือน” เพื่อหวังจะ “ทำลายความน่าเชื่อถือ” ของ คสช. หรือกองทัพ โดยเด็ดขาด สื่อยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากคำสั่งที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการห้ามการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่อาจนำไปสู่ “ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือ “มีข้อมูลบิดเบือนที่มีแนวโน้มที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน” ซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปิดสื่อที่วิจารณ์รัฐบาลทหาร
                   กสม. ขอชี้แจงว่าปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารห้ามการเผยแพร่ข้อมูลหรือปิดสื่อที่วิจารณ์รัฐบาลตามที่กล่าวอ้างในรายงานฯ โดยประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมีทั้งสิ้น ๘ ฉบับ[๔] ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว ๖ ฉบับ[๕] ส่วนที่เหลืออีก ๒ ฉบับ คือ  ประกาศ คสช.ที่ ๒๖/๒๕๕๗ เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๔๑/๒๕๕๙ เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ เป็นประกาศและคำสั่งที่ออกตามประกาศ คสช. ฉบับก่อนหน้า ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๙/๒๕๖๒ จึงทำให้ประกาศและคำสั่ง ๒ ฉบับดังกล่าวสิ้นผลไปโดยปริยาย ปัจจุบัน การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจึงเป็นไปตามกฎหมายปกติ
                   ๓. หมวดที่ ๕ ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                   กรณีรายงานระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี กสม. ได้รับคำร้อง ๗๒๗ เรื่อง นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม ในจำนวน ๔๔๖ เรื่องนี้ มี ๕๒ เรื่องที่ กสม. รับไว้สืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม และ ๒๒ เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงวิพากษ์วิจารณ์ กสม. กรณีไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๒ คน ลาออก โดยมีรายงานว่าสาเหตุมาจากความไม่พอใจวิธีการดำเนินงานภายใน ซึ่งขัดขวางไม่ให้กรรมการรับคำร้องโดยตรงจากสาธารณชน และลิดรอนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมของกรรมการ เนื่องจากมีกรรมการ ๒ คนลาออกจาก กสม. ก่อนหน้านี้ การลาออกของกรรมการทั้งสองคนนี้ทำให้จำนวนกรรมการลดลงเหลือ ๓ คน จากปกติ ๗ คน ในเดือนพฤศจิกายน ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดใช้อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งกรรมการ ๔ คนเป็นการชั่วคราว ทำให้กสม. มีกรรมการเต็มจำนวน ๗ คนอีกครั้ง กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการเช่นเดียวกับกรรมการ ๓ คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว จนกว่ารัฐบาลจะเลือกกรรมการถาวรขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวควรเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๐ ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่     
                   กสม. ขอชี้แจงใน ๔ ประเด็น ดังนี้
                   ประเด็นที่ ๑ กรณีข้อมูลที่ปรากฏในรายงานเกี่ยวกับสถิติเรื่องร้องเรียนที่ กสม. ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม ๒๕๖๒ นั้น มีความคลาดเคลื่อน ในช่วงเวลาดังกล่าว กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสิ้น ๕๐๘ เรื่อง ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นและได้พิจารณารายละเอียดของเรื่องร้องเรียนที่ได้รับทุกกรณีตามระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๖๑ จากนั้นจึงพิจารณาว่า จะรับเรื่องร้องเรียนใดไว้ตรวจสอบเชิงลึกหรือประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน ในปี ๒๕๖๒ มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม.รับไว้เป็นคำร้องและตรวจสอบในเชิงลึกจำนวน ๖๙ เรื่อง โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องร้องเรียนบางกรณีเป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไขโดยหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง และเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสม. หรืออยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น เป็นต้น
                     ประเด็นที่ ๒ กรณี กสม. ไม่ยื่นฟ้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือ
ในนามของผู้ร้องเรียน ขอชี้แจงว่า การฟ้องผู้กระทำการละเมิดดังกล่าวเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้ให้อำนาจดังกล่าวไว้ เพียงกำหนดให้ กสม. ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายได้ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นความผิดอาญาและผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะจะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้เท่านั้น ดังปรากฏ
ในมาตรา ๓๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ
                     ประเด็นที่ ๓ กรณีที่รายงานกล่าวอ้างว่าสาเหตุของการลาออกของ กสม. ๒ คน เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มาจากความไม่พอใจวิธีการดำเนินงานภายในซึ่งขัดขวางไม่ให้กรรมการรับคำร้องโดยตรงจากสาธารณชนและการลิดรอนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมของกรรมการนั้น ขอชี้แจงว่า ระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๓ (๒) กำหนดให้การยื่นเรื่องร้องเรียนสามารถยื่นต่อกรรมการคนใดคนหนึ่งได้ การขัดขวางไม่ให้กรรมการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจึงไม่สามารถกระทำได้ ส่วนการทำงานกับภาคประชาสังคมนั้น ขอชี้แจงว่า กสม. มีการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๓๓ วรรคสอง ที่กำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ กสม. ประสานหรือแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม ส่วนการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในรูปคณะอนุกรรมการนั้น มาตรา ๒๙ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด กสม. อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น
                   อนึ่ง กรรมการ ๒ คน ดังกล่าว ลาออกจากการเป็นกรรมการเมื่อวันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยระบุเวลาลาออกตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐ น. ซึ่งเป็นเวลาประชุมของ กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามปกติทุกวันพุธเวลา ๐๙.๓๐ น. ในวันที่กรรมการ ๒ คน ลาออก มีวาระการประชุมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากพอสมควร เมื่อเหลือกรรมการเพียง ๓ คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ ๔ คน ทำให้ กสม. ไม่อาจประชุมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนเป็นเวลา ๙๒ วัน โดยที่ก่อนหน้าที่กรรมการ ๒ คน ดังกล่าวจะลาออก กสม. สามารถประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากด้วยดีตลอดมา
                   ประเด็นที่ ๔ กรณีการแต่งตั้งกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในตำแหน่งกรรมการที่
ว่างลงและกระบวนการคัดเลือก กสม. ชุดใหม่ควรเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๐ นั้น ในกรณีการแต่งตั้งกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ขอชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๒๒  ซึ่งดำเนินการเมื่อมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้ร่วมกันแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการชั่วคราวจำนวน ๔ คน ทั้งนี้ เพื่อให้ กสม.สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
                   ส่วนในกรณีการสรรหา กสม. นั้น ขอชี้แจงว่า ได้เริ่มดำเนินการภายหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ โดย กสม. มีหน้าที่ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดแจ้ง การรับจดแจ้งและการเลือกกันเองขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม เพื่อเป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวาระเริ่มแรก ให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วันตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๑ (๑) – (๓) หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาในการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยในส่วนที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสม. ได้มีการดำเนินการดังนี้ กสม. ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๑ อยู่ในกรอบระยะเวลา ๓๐ วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ใช้บังคับตามที่กำหนด
                   ๑) ในมาตรา ๖๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ  และระเบียบมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑                 
                   ๒) หลังจากที่ระเบียบตามข้อ ๑) ข้างต้นมีผลใช้บังคับ สำนักงาน กสม. ได้ประกาศการรับจดแจ้งและดำเนินการรับจดแจ้งการเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรา ๑๑ (๔) และสภาวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ (๕) ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๑ (๒) เพื่อเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวาระเริ่มแรก ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
                   ๓) เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑ สำนักงาน กสม. ได้จัดให้มีการประชุมผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน สภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข และสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวาระเริ่มแรก ตามมาตรา ๑๑ และ มาตรา ๖๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น สำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือแจ้งผลการเลือกกันเองขององค์กรเอกชนและสภาวิชาชีพไปยังเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   คณะกรรมการสรรหาได้เริ่มกระบวนการสรรหาตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน วุฒิสภาได้เห็นชอบผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว ๔ คนมีผู้สมัครที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา ๑ คน และอยู่ระหว่างการดำเนินการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาอีก ๒ คน
                   กระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการถาวร ไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐบาลตามข้อกล่าวอ้างแต่อย่างใด
                   ๔. หมวดที่ ๖ การเลือกปฏิบัติ การกระทำมิชอบในสังคม และการค้ามนุษย์
                        ๔.๑ กรณีที่รายงานว่า องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐยืนยันว่า การข่มขืนเป็นปัญหาร้ายแรง และเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งยกเลิกมาตรการตามกฎหมายเดิมที่ผ่อนผันให้ผู้กระทำผิดในคดีใช้กำลังทำร้ายทางเพศที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีได้ด้วยการเลือกที่จะแต่งงานกับผู้เสียหาย การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวกำหนดให้ผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีได้ภายหลังสำเร็จโครงการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกำหนดให้เข้าร่วมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม องค์กรพัฒนาเอกชนแสดงความกังวลว่า การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้ทำให้คำนิยามของการข่มขืนแคบลง โดยระบุว่าการข่มขืนคือการใช้อวัยวะเพศชายล่วงล้ำผู้อื่นทางกาย ส่งผลให้ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดโดยการใช้อวัยวะอื่นหรือวัตถุต่างๆ ไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย
                   กสม. ขอชี้แจงใน ๒ ประเด็น ดังนี้
                   ประเด็นที่ ๑ กรณีรายงานกล่าวอ้างว่าผู้กระทำผิดในคดีใช้กำลังทำร้ายทางเพศผู้มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีหากประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการบำบัดฟื้นฟูนั้น
                   ขอชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ ที่แก้ไขเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒[๖] มิได้ยกเว้นโทษการข่มขืนเด็ก แต่ในกรณีที่เด็กมีเพศสัมพันธ์กันโดยสมัครใจ กฎหมายให้ศาลมีอำนาจพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ทั้งเด็กผู้กระทำและเด็กผู้ถูกกระทำ ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อายุ ประวัติ ความประพฤติ การศึกษาอบรม ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กผู้กระทำและเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอันควรอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กำหนดแนวทางป้องกันเด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ได้แก่ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองสิทธิของวัยรุ่นในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ และสวัสดิการสังคมสำหรับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว
                   ประเด็นที่ ๒ กรณีการแก้ไขนิยามการข่มขืนให้แคบลงโดยไม่รวมถึงการล่วงละเมิดที่ใช้อวัยวะหรือวัตถุอื่นนั้น ขอชี้แจงว่า การล่วงละเมิดในลักษณะดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำอนาจารตามมาตรา ๒๗๘ วรรคสอง ซึ่งมีบทกำหนดโทษเท่ากับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ และมาตรา ๒๗๗ ที่ได้รับการแก้ไขเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒[๗]
                   ๔.๒ กรณีรายงานระบุว่า องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐและสหประชาชาติรายงานว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติในหลายภาคส่วน รวมทั้งในกระบวนการการเกณฑ์ทหาร ขณะถูกคุมขัง และจากนโยบายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับเครื่องแบบของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศกำเนิด ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เอกสารแสดงการจบการศึกษา ถูกลดเกรด หรือทั้งสองอย่าง
                   กสม. ขอชี้แจงกรณีการแต่งกายของนักศึกษาว่า กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการแต่งกายในการเข้าเรียน สอบ ฝึกปฏิบัติงาน และการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเห็นว่าการที่นิสิตนักศึกษาแต่งกายตามวิถีทางเพศในลักษณะเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการแต่งกายที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ การแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดไม่ได้มีผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษาอื่น ๆ ที่เข้าเรียนและเข้าสอบวัดผล และการที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้บัณฑิตต้องแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะตามเพศกำเนิดเท่านั้นมีลักษณะเป็นการจำกัดการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของบุคคลโดยไม่ได้มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัยหรือการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาแต่อย่างใด  ซึ่งได้มีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งยอมรับและดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ได้เป็นประธานในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม ซึ่งการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศสภาวะของบุคคลเป็นหนึ่งในนโยบายดังกล่าว โดยมีหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าร่วม ๒๔ แห่ง[๘]
                   ๔.๓ กรณีรายงานระบุว่า การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กฎหมายกำหนดปรับโทษผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่นเป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๖๖๖ ดอลลาร์สหรัฐ) โดยการคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด ๑๕ ปีและโทษปรับสูงสุด ๓๐,๐๐๐ บาท (๑,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามมิให้คุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ ๕ ระดับ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน สั่งพักราชการ และไล่ออก องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่าการคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล
                   กสม. ขอชี้แจงในประเด็นความคลุมเครือของคำจำกัดความของการคุกคามทางเพศว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๗ กำหนดโทษสำหรับการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามทางเพศ ซึ่งได้แก่การกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ครอบคลุมถึงการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ และกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น[๙] นอกจากนี้ ในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดลักษณะการกระทำที่ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศไว้เพียงพอ ได้แก่ การกระทำด้วยการสัมผัสทางกาย ด้วยวาจา อากัปกิริยา การแสดงหรือการสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ รวมถึงการแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานโดยให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการคุ้มครองผู้ถูกกระทำและพยาน รวมทั้งให้มีการรายงานผลการดำเนินงานทุกปี
 
จึงชี้แจงมาเพื่อทราบทั่วกัน
 
รายละเอียดตามเอกสารแนบ                  
 
                   [๑] มาตรา ๑๗ ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ บัญญัติว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกิน สมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
                   [๒] รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ ๒๗๓/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีกล่าวอ้างว่าเด็กหญิงชาวโรฮีนจาเสียชีวิตภายในห้องกักของด่านตรวจคนเมืองจังหวัดสงขลา
                   [๓] จาก พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกําหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัว คนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ, โดย กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๒. สืบค้นจาก http://www.mfa.go.th/main/th/ news3/6886/98779-พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ-เรื่อง-การกำาหนดมาตรการแล.html
                   [๔] ๑) ประกาศ คสช. ที่ ๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ (โดยให้อำนาจ คสช. ระงับการให้บริการได้ทันที)
                         ๒) ประกาศ คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช.
                         ๓) ประกาศ คสช. ที่ ๑๗/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
                         ๔) ประกาศ คสช. ที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
                         ๕) ประกาศ คสช.ที่ ๒๖/๒๕๕๗ เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลเชิงยั่วยุ สร้างความรุนแรง ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคารพกฎหมาย ต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. ตามประกาศ ๑๒/๒๕๕๗ และ ๑๗/๒๕๕๗ โดยมีอำนาจระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว)
                         ๖) ประกาศ คสช. ที่ ๙๗/๒๕๕๗  เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ (ให้อำนาจ คสช.ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการโดยทันที)
                         ๗) ประกาศ คสช. ที่ ๑๐๓/๒๕๕๗ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช. ที่ ๙๗/๒๕๕๗ (แก้ไขกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. ต้องมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และการฝ่าฝืนกรณีดังกล่าวอาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรม)
                          ๘) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๔๑/๒๕๕๙ เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ (คุ้มครองการใช้อำนาจโดยสุจริต กสทช. ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย)
                   [๕] ประกาศ คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๗  และ ๑๘/๒๕๕๗ ถูกยกเลิกโดยประกาศ คสช. ที่ ๙๗/๒๕๕๗ ส่วนประกาศ คสช. ที่ ๑๒/๒๕๕๗, ๑๗/๒๕๕๗, ๙๗/๒๕๕๗ และ ๑๐๓/๒๕๕๗  ถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๙/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒
                   [๖] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๒, ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๖๙ ก วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒.
                   [๗] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๒, ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๖๙ ก วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒.
                   [๘] จาก พม. จับมือ ๒๔ หน่วยงาน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “มุ่งมั่นในการสร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”, โดย ROYAL THAI GOVERNMENT, ๒๕๖๓. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/26854
                   [๙] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘, ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘.
 

 

11/09/2563
เลื่อนขึ้นด้านบน