กสม. ศยามล ลงพื้นที่ประชุมรับฟังข้อเท็จจริง กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย

21/05/2567 1444

          เมื่อวันที่ 16 - 17 พฤษภาคม 2567  นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางรัตติกุล  จันทร์สุริยา และนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพยานผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่และประชุมรับฟังข้อเท็จจริง กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

          วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 8.30 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากสำนักงานชลประทานที่ 7 เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลทรัพยากรธรรมชาติที่จะได้รับผลกระทบน้ำเท้อจากการสร้างเขื่อนพูงอย และลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบน้ำเท้อจากเขื่อนพูงอย และรับฟังข้อมูลและข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ จุดบรรจบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล บ้านวังยาง อำเภอวารินชำราบ สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง แก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร เขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ สถานีวัดน้ำโขงเจียม วัดบุปผาวัน อำเภอโขงเจียม และบ้านห้วยหมากใต้ อำเภอโขงเจียม

 

          วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย โดยมีนางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานพลังงานจังหวัด กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมให้ข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย การติดตามข้อมูลการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย และข้อห่วงกังวล การคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ร่วมทั้งหาแนวทางลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งรับฟังข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และปัญหาน้ำเท้อ ผลกระทบด้านประมงและความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบด้านสังคม โดยการประชุมในครั้งนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระบวนในการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่อาจยังไม่เพียงพอ

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้นำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหา ข้อห่วงกังวล การคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวไปรวบรวมเพื่อจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

เลื่อนขึ้นด้านบน