กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 17/2567 กสม. ตรวจเยี่ยมเรือนจำพิเศษมีนบุรี ชื่นชมแนวปฏิบัติในการแยกคุมขัง ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาดตามหลักสิทธิมนุษยชน - ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย - แสดงความยินดีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญ

24/05/2567 2990

                วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 17/2567 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้ 

            1. กสม. ตรวจเยี่ยมเรือนจำพิเศษมีนบุรี ชื่นชมแนวปฏิบัติในการแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาดตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ให้เร่งปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 เพื่อจำแนกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาดเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและเหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด ประกอบกับที่ผ่านมา กสม. ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องถึงเรื่องการแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาดเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน 

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 กสม. โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำพิเศษมีนบุรีเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. เรื่องการแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด โดยมีนายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี นำเข้าตรวจเยี่ยมภายในเรือนจำ ผลการตรวจเยี่ยมพบว่า เรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นเรือนจำต้นแบบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีของกรมราชทัณฑ์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด ได้แก่ การแยกคุมขังออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาด การใช้ชีวิตประจำวัน การแต่งกายสามารถสวมใส่เสื้อผ้าทั่วไปที่ญาติฝากให้ได้ การไว้ทรงผมไม่ต้องตัดผมสั้นตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 สำหรับการเดินทางไปศาลให้ใส่เสื้อมีแถบสีที่แขนเสื้อและสวมใส่กางเกงวอร์มขายาวต่างจากผู้ต้องขังเด็ดขาด

            นอกจากติดตามเรื่องการจำแนกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาดข้างต้นแล้ว กสม. ยังได้ติดตามความคืบหน้าของเรือนจำพิเศษมีนบุรีในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การคุมขัง การตัดผม การรับฮอร์โมนเพศ และการตรวจหาเชื้อ HIV โดยได้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้กรมราชทัณฑ์ได้ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น 

            นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขังไปศาล โดยเห็นว่ากรมราชทัณฑ์ควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แทนการใส่ตรวนข้อเท้าผู้ต้องขัง เพื่อให้การปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

            กสม. ขอชื่นชมในความตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีให้แตกต่างจากผู้ต้องขังเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 14 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่ง กสม. เห็นว่า นโยบายนี้จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้กรมราชทัณฑ์ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเห็นถึงความจำเป็นในการจำแนกผู้ต้องขังด้วย

            ทั้งนี้ ทราบว่ากรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดีในเขตจังหวัดต่าง ๆ แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดลำปาง พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครศรีธรรมราช สงขลา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายแยกผู้ต้องขังดังกล่าว สำหรับเรือนจำอื่น ๆ ให้แยกการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาดตามลักษณะทางกายภาพของเรือนจำตามความเหมาะสม

            2. กสม. ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

            นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า ร้านสะดวกซื้อสาขาหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกร้อง) เอาเปรียบผู้ร้องและพนักงานรายอื่น ๆ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น อนุญาตให้พักกลางวันน้อยกว่า 1 ชั่วโมง หักหรือปรับเงินในกรณีที่พนักงานมาสายหรือสินค้าสูญหาย และมีกรณีที่พนักงานรายหนึ่งซึ่งถูกหักเงินเข้าประกันสังคมมาโดยตลอด ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รับรองสิทธิของแรงงานในการได้รับค่าจ้างในอัตราเท่ากัน สำหรับการทำงานที่มีลักษณะ คุณภาพและปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) นโยบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) 

            จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก กรณีการลงโทษพนักงานโดยผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของวินัยและโทษทางวินัย เห็นว่า ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ใช้วิธีแจ้งหรือบอกกล่าวพนักงานให้ทราบด้วยวาจา ประกอบกับได้ลงโทษพนักงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวโดยไม่ได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้นไว้ ได้แก่ การหักเงินพนักงานที่เข้าทำงานสาย การหักเงินกรณีมีสินค้าสูญหาย อีกทั้งไม่ได้มอบสลิปค่าจ้างซึ่งแสดงเงินรายรับและรายการหักให้พนักงานได้รับทราบ เพียงแต่ให้พนักงานตรวจสอบวัน/เวลาทำงาน ค่าจ้าง และเงินพิเศษอื่น ๆ ก่อนการจ่ายค่าจ้างแต่ละเดือน เป็นเหตุให้พนักงานไม่มีโอกาสตรวจทานรายรับและรายการหักเงินของตนเองอย่างรอบคอบ จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกระทบต่อสิทธิแรงงานของพนักงาน จึงเป็นการกระทำและละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            นอกจากนี้ การที่ร้านสะดวกซื้อฯ ปรับสถานะพนักงานรายเดือนเป็นพนักงานรายวันด้วยเหตุแห่งการลา โดยไม่ได้กำหนดโทษของการลาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโทษของการขาดงานติดต่อกันไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งไม่ได้ปิดประกาศเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้พนักงานทราบ ส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและไม่ได้รับสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง จึงกระทบต่อสิทธิและความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นที่สอง กรณีผู้ถูกร้องไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้แก่พนักงาน จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกร้องได้นำส่งเงินสมทบย้อนหลังทันทีที่ทราบว่ายังมิได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมิได้เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของพนักงาน 

            ประเด็นที่สาม กรณีการให้พนักงานพักระหว่างการทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการของผู้ถูกร้อง ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีการแบ่งเวลาการทำงานเป็น 3 กะ ร้านได้แบ่งเวลาพักให้แก่พนักงาน 1 ชั่วโมงต่อรอบการทำงาน เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ได้ตกลงกันแล้วว่าอาจเรียกพนักงานที่อยู่ระหว่างการพักไปให้บริการลูกค้าก่อนแล้วจึงกลับไปพักต่อ ซึ่งเป็นการบริหารงานภายในร้านเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตว่า แม้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อฯ จะไม่ได้มีสถานะที่ถือเป็นนายจ้างและไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาร้านสะดวกซื้อ สาขาดังกล่าว แต่มีการทำธุรกิจร่วมกันในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า โดยคัดเลือกผู้ลงทุนภายนอกเพื่อดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อตามกระบวนการของบริษัท วางระบบการบริหารจัดการร้านและดูแลลูกค้า กำกับดูแล รวมทั้งส่งต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทให้ร้านสะดวกซื้อทราบและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัทเจ้าของแบรนด์จึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ หากพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

            (1) ให้ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ชัดเจนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะวินัยและโทษทางวินัย เผยแพร่และปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ทำงานของพนักงานโดยเปิดเผย โดยอาจแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกจ้างได้ทราบและเข้าถึงได้โดยสะดวก และให้ดำเนินการตรวจสอบการหักเงินพิเศษกับพนักงานที่มาทำงานสายและทำสินค้าในร้านสูญหาย และชดใช้เงินคืนให้แก่พนักงานดังกล่าว เพื่อชดเชยเยียวยาให้แก่พนักงานที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลงโทษทางวินัยโดยที่ยังไม่เคยรับทราบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

            นอกจากนี้ ให้เพิ่มการสื่อสารกับพนักงานเกี่ยวกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎระเบียบ บทลงโทษในการทำงาน และรับฟังข้อคิดเห็นจากพนักงานตามความเหมาะสม เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน หากพนักงานกระทำผิดกฎระเบียบให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักธรรมาภิบาลก่อนใช้มาตรการลงโทษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมและสภาพการทำงานที่น่าพึงพอใจตามหลักสิทธิมนุษยชน

            (2) ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจสอบร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) ตามหน้าที่และอำนาจ หากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างของร้านสะดวกซื้อขณะตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น การลา การพักระหว่างการทำงาน เป็นต้น

            (3) ให้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ กำหนดเรื่องสิทธิแรงงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหนึ่งในหัวข้อรายการตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทนำไปใช้ประเมินความเสี่ยงด้านแรงงานและธรรมาภิบาลในร้านสะดวกซื้อที่เกี่ยวข้องทุกสาขา และพัฒนาการเข้าถึงช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียนให้พนักงานร้านสะดวกซื้อของผู้ลงทุนภายนอก สามารถร้องเรียนต่อบริษัทได้โดยตรง โดยรับประกันว่าการร้องเรียนจะไม่กระทบต่อการทำงานของพนักงาน และประกาศนโยบายดังกล่าวให้พนักงานทราบโดยทั่วกัน

            3. กสม. ยินดีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ

 

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นั้น 

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองประชาชนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญในอนาคต อีกทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025 – 2027 ด้วย

            กสม. ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนทุกภาคส่วนขับเคลื่อนและผลักดันจนกระทั่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งรัดการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกกระทำให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

            ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) แล้ว เท่ากับว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ จำนวนทั้งสิ้น 8 ฉบับ จาก 9 ฉบับ ได้แก่ (1) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) (2) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) (3) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) (4) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) (5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) (6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) (7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD) และ (8) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) คงเหลือเพียง อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (CMW) ที่ประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคีเพียงฉบับเดียว

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

24 พฤษภาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน