กสม. หารือแนวทางเสริมแรงการป้องกันการทรมานในสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ การเยียวยา และการกำหนดกรอบมาตรฐานการปฏิบัติงาน เสริมประสิทธิภาพ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กับฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและสารเสพติด กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา

27/05/2567 85

          เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย และด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและป้องกันการทรมาน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้หารือกับ รอชนี นิโรดี (Roshini Norody) ผู้อำนวยการ เบร็ต เพ็ตติท (Brett Pettit) รองผู้อำนวยการ และวาริสา คงกิตติศาล ผู้เชี่ยวชาญโครงการ ฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด (International Narcotics and Law Enforcement Affairs Section: INL) กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาภาคส่วนงานยุติธรรม และการสร้างความร่วมมือและพัฒนาทักษะ ในการปฏิบัติหน้าที่การป้องกันการทรมานในสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ ณ สำนักงาน กสม. กรุงเทพฯ

 

          ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลให้ใช้บังคับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกฎหมายกำหนดให้การกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดอาญา และมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท รวมถึงมีบทรับโทษหนักขึ้นในกรณีที่ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส หรือกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย นอกจากนั้น ยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ อาทิ การไม่งดเว้นความรับผิดเพราะเหตุแห่งสงคราม ภัยคุกคาม หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน การนับอายุความ 20 ปีตามกฎหมายอาญา และการมีมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามหมวด 3 ซึ่งแตกต่างจากหลักการทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ครอบคลุม วิธีการควบคุมตัว การบันทึกข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว การเปิดเผยข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว การใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ไต่สวน ยุติการกระทำและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น และการดำเนินการเมื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย รวมถึงการแจ้งการพบเห็นหรือทราบเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว โดยหากกระทำโดยสุจริต มิต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยแต่อย่างใด

 

          ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ดังนี้ (1) จัดทำแผนปฏิบัติการ กสม. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2567 – 2569 (2) ดำเนินโครงการวิจัยแนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติและการพัฒนามาตรฐานการตรวจสถานที่คุมขังตาม OPCAT และ (3) จัดตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและป้องกันการทรมาน (กตย.) เป็นหน่วยงานหลักภายในสำนักงาน กสม. ทำหน้าที่ (3.1) พัฒนาความร่วมมืองานตรวจเยี่ยม ติดตาม และป้องกันการทรมานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ตลอดจนเตรียมความพร้อมเป็นกลไก NPM ตาม OPCAT (3.2) จัดทำแผนตรวจเยี่ยม ติดตาม และประเมินผล สถานที่ควบคุมตัวที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันการทรมานและลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (3.3) ดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำทรมานหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ (3.4) ร่วมปฏิบัติงานหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

 

          การดำเนินงานดังกล่าว เป็นการพัฒนาระบบการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพัก ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส และการจัดตั้งกลไก NPM ซึ่งทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ข้างต้น และประสานการปฏิบัติงานกับคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ หรือข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลและหน่วยรับการตรวจเยี่ยม

 

          ที่ประชุมระหว่าง กสม. และ INL ได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์ พร้อมหารือแนวทางรูปธรรมความร่วมมือ และมีข้อเสนอในการเสริมแรงการป้องกันการทรมานในสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ และประสิทธิภาพของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ใน 3 แผนงาน/กิจกรรมหลัก คือ

 

          กิจกรรมที่หนึ่ง: การเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการยุติธรรม ในประเด็น “การเยียวยา (remediation)” ในมิติต่าง ๆ โดยผสมผสานโมเดลการเรียนรู้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ (expert) และจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ (spiral) การปฏิบัติงานต่าง ๆ

 

          กิจกรรมที่สอง: การเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานของ กสม. ในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวกับ “สารเสพติด” และ “การดำเนินการลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction)” เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน กสม. ได้มีความเข้าใจการปรับใช้แนวทางที่เหมาะสมในการคุ้มครองและส่งเสริม การประเมินสถานการณ์ และจัดทำข้อเสนอนโยบายข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องในแนวทางสิทธิมนุษยชน (Human Rights-based Approach)

 

          กิจกรรมที่สาม: การเสริมแรง และสร้างประสิทธิภาพการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนและวิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล การบันทึกหลักฐาน ภาพถ่ายต่าง ๆ รวมถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกล้องตรวจการณ์ หรือกล้องติดตัว ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน โดยส่วนนี้ กสม. จะประสานงานกับกระทรวงยุติธรรม และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures: SOP)

 

          กสม. จะประสานงานกับ INL เพื่อหนุนเสริมการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสิทธิให้เป็นจริง (Make the Rights Real) ช่วยเสริมแรงการป้องกันการทรมานในสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (สถานบำบัดผู้ใช้สารเสพติด) การเยียวยา และการกำหนดกรอบมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) เสริมประสิทธิภาพ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน