กสม. หารือร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเด็นการละเมิดสิทธิและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

27/05/2567 69

          เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.30 น. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมหารือกับผู้แทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จากสำนักงานใหญ่ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และสำนักงานประเทศไทย ในประเด็นข้อค้นพบจากการจัดทำรายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง : ความรุนแรงในโลกดิจิทัลและการปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” (Being Ourselves is Too Dangerous: digital violence and the silencing of women and LGBTI activists in Thailand) ซึ่งพบว่านักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น การสอดแนมทางดิจิทัลด้วยการใช้สปายแวร์ การคุกคามในโลกออนไลน์ การใช้คำพูดที่แสดงความเกลียดชังและดูหมิ่น การจงใจเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (doxing) และการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการได้รับเยียวยาในกรณีที่ถูกคุกคามและละเมิดสิทธิในโลกออนไลน์ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย การแสวงหาพยานหลักฐาน ความเข้าใจและความตระหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงกรณีที่ภาครัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์

 

          ในโอกาสนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อผลักดันประเด็นสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบอันมีสาเหตุมาจากมิติทางเพศ โดย กสม. จะติดตามผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่เสนอให้รัฐบาลตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีสอดแนมและกำหนดแนวทางและกลไกในการกำกับควบคุมการใช้งานสปายแวร์หรือเทคโนโลยีสอดแนมของหน่วยงานของรัฐ เพื่อมิให้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกระทบสิทธิของประชาชนอย่างไม่ได้สัดส่วน และทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมให้การใช้งานพื้นที่โลกออนไลน์มีความปลอดภัยปราศจากการใช้ถ้อยคำด้อยค่าและเกลียดชัง

 

เลื่อนขึ้นด้านบน