กสม. ศยามลลงพื้นที่จังหวัดระยอง ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด และกรณีการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

27/05/2567 200

          เมื่อวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2567 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ลงพื้นที่จังหวัดระยองตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนว่าหน่วยงานของรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงล่าช้า และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลกระทบได้อย่างเพียงพอ และกรณีการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชน โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

          วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนว่าหน่วยงานของรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงล่าช้า และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลกระทบได้อย่างเพียงพอโดยเดินทางไปพบตัวแทนผู้ร้องและประชาชนในพื้นที่ชุมชนเกาะกก-หนองแตงเม ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ซึ่งมีความกังวลใจในเรื่องสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี อันเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศและแหล่งน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิต ขนส่ง จัดเก็บ และกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมบ่อยครั้งในพื้นที่จังหวัดระยอง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อบทบาทของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเอกชนประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม การควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษ

 

          ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลพบว่า ประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมมีความวิตกกังวลด้านสุขภาพโดยเฉพาะความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทและสมอง รวมถึงการแพร่กระจายและการปนเปื้อนของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ดิน และน้ำ สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนในการใช้ชีวิตมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ซึ่งมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษในท้องที่เขตตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเลและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงน้ำจากคลองชลประทาน และน้ำใต้ดิน จำต้องซื้อน้ำดื่มบริโภค เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับสารเคมีปนเปื้อน ประกอบกับผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดิน และน้ำในพื้นที่เขตโรงงานอุตสาหกรรมโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม มักจะพบค่าความเข้มข้นของมลพิษสูงเกินมาตรฐาน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นสารเคมีรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณรอบโรงงาน

 

          ต่อมาเวลา 15.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ เดินทางไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขเกาะกก สังกัดสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมาบตาพุด ซึ่งรับผิดชอบให้บริการด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิแก่ชาวชุมชนเกาะกก ชุมชนเกาะกก-หนองแตงเม ชุมชนกรอกยายชา ชุมชนหนองบัวแดง ในเขตเทศบาลเมือง มาบตาพุด โดยได้พูดคุยและสอบถามข้อมูลจากนางสุรัสวดี ชลธี หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุขเกาะกก ในเรื่องปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนที่รับผิดชอบ สรุปว่า ข้อมูลเบื้องต้นยังไม่พบสถิติการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือความผิดปกติที่เชื่อมโยงกับผลกระทบด้านมลพิษอย่างชัดเจน เนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุขเกาะกกเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขขนาดเล็กในระดับปฐมภูมิ ประกอบกับชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมพอสมควร ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลของรัฐประจำอำเภอและประจำจังหวัดในระดับทุติยภูมิเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพต่อไป

 

          จากนั้นเวลา 16.00 น. ที่บริเวณตลาดอาหารทะเลสด ถนนเลียบชายฝั่ง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่สังเกตการณ์และพูดคุยกับประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายสัตว์น้ำและอาหารทะเลสด กลุ่มประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ้านตากวน ซึ่งกลุ่มผู้ค้าขายต่างประสบปัญหาขายสินค้าไม่ค่อยได้ บรรยากาศซบเซา เนื่องจากไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ความต้องการซื้ออาหารทะเลสดน้อยลง คาดว่าเป็นผลกระทบภายหลังเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีของบริษัท มาบตาพุด แท็งค์ เทอร์มินอล จำกัด จนทำให้ผู้มีเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ตั้งของโรงงานจุดเกิดเหตุอยู่ห่างออกไปจากตลาดแห่งนี้ในระยะไม่ไกลนัก ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในสัตว์น้ำและอาหารทะเลอยู่แล้วด้วย 

 

          วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.30  น. ที่ห้องประชุมอุตรกิจพิจารณ์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดระยอง นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้จัดประชุมรับฟังข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนกรณีการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน และปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง โดยมีตัวแทนผู้ร้อง พยานบุคคล ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 8 (ชลบุรี) สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี อำเภอศรีราชา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง อำเภอปลวกแดง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง และบริษัทที่เกี่ยวข้อง

 

          ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้สอบถามและให้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อเท็จจริงในประเด็นเกี่ยวกับแหล่งที่มาและประเภทขยะอุตสาหกรรมที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง วิธีการขนส่งและกำจัดขยะมีพิษ การพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม หลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานประเภทดังกล่าว รวมถึงปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชน หากมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวในพื้นที่ จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้พยานบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ร้องและประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ข้อมูลต่อที่ประชุม แสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเรียกร้อง สรุปความได้ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่จะตั้งโรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับทราบข้อมูลโครงการฯ จากบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องและบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ และถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าว เพื่อประกอบการจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) นอกจากนี้ ประชาชนในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบต่างมีความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัย ชีวิตความเป็นอยู่ และความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนในระยะยาว เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกลไกการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนนโยบายของรัฐและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเรียกร้องให้มีการทบทวนกระบวนการจัดทำรายงาน CoP โดยจัดรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และขอให้รัฐบาลทบทวนกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษในจังหวัดระยองอย่างจริงจัง 

 

          ทั้งนี้ กสม. จะได้นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการลงพื้นที่มาใช้ประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน