กสม.ปิติกาญจน์ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ และร่วมนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการส่งเสริมและขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

31/05/2567 30

          เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรม ดารา ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการประกอบธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมี นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์  รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

 

          โดย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการส่งเสริมและขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในหัวข้อ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” โดยได้กล่าวว่า การประกอบธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบหรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกือบทุกขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าการลงทุนที่สูงมากขึ้น จึงมีการกำหนดมาตรฐานของคู่ค้าหรือธุรกิจให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยใช้กลไกในการกำหนดมาตรฐานของการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน เป็นกติกาของการประกอบธุรกิจ และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกติกาของการค้าการลงทุนในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน ในการดำเนินงานที่ผ่านมาได้คัดเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรทุกภาคส่วนในพื้นที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กสม. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้จะเป็นกรอบแนวทางให้ทุกฝ่ายมีทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้

 

          นอกจากนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกล่าวถึง แนวทางการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โดยได้กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการบูรณาการการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ด้วยเห็นว่า ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญและสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยคาดหวังให้พลังความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบธุรกิจที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมทุกมิติ เกิดเครือข่ายองค์กรธุรกิจต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน

 

          ทั้งนี้ ภายหลังการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ องค์กรภาคีเครือข่ายได้ร่วมการจัดอบรม หลักสูตร การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและเคารพสิทธิมนุษยชน สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรม ดารา ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรในภาคธุรกิจในการเตรียมพร้อมบุคลากรในภาคธุรกิจให้สามารถนำเครื่องมือบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไปใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างเครือข่ายตัวแทนองค์กรจากภาคธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการยกระดับการดำเนินการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เลื่อนขึ้นด้านบน