กสม. สุภัทรา บรรยาย เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับปัญหาสุขภาพ” สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

31/05/2567 49

          เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับปัญหาสุขภาพ” สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 โปรแกรมการเรียนการสอนกลุ่มรายวิชาทฤษฎีทางเวชศาสตร์ชุมชน และรายวิชาการปฏิบัติงานทางเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2567 รุ่นที่ 1 จำนวน 31 คน ณ ห้องเรียนใหญ่ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อาคาร อปร. ชั้นที่ 19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

           กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นบรรยายด้วยการแนะนำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หน้าที่และอำนาจของ กสม. ที่มาความหมายและขอบเขตของสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับ บทบาทหน้าที่ของรัฐในเรื่องสิทธิมนุษยชน จากนั้นทำความเข้าใจกับสิทธิในสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย สิทธิในสุขภาพในประเทศไทย และสถานการณ์สิทธิในสุขภาพในประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและเด็กติดตาม ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน สถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5 และการเข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิในสุขภาพและสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ กรณีร้องเรียนว่าบริการทันตกรรมในระบบประกันสังคมไม่เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานการตรวจสอบกรณีโรงพยาบาลของรัฐเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของบุคคล รายงานข้อเสนอแนะเรื่องการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติและประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ และรายงานข้อเสนอแนะเรื่องการเข้าถึงบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

          ช่วงท้ายการบรรยาย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปปัญหาสุขภาพเชิงระบบในประเทศไทย ได้แก่ ความไม่เพียงพอของบุคลากรและทรัพยากรรวมถึงการกระจายที่ไม่เป็นธรรม การรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูง ความเหลื่อมล้ำในชุดสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน และการจัดระบบบริการสุขภาพ

 

          การบรรยายดังกล่าว ได้รับความสนใจจากนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 สอบถามและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิในสุขภาพ โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในทิ้งท้ายว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ ที่นิสิตแพทย์ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ เพื่อจบออกมาเป็นแพทย์ที่ดีมีคุณธรรม ให้บริการประชาชนด้วยความเคารพศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และเน้นย้ำว่า สิทธิสุขภาพ คือสิทธิมนุษยชน คือสิทธิของทุกคน

เลื่อนขึ้นด้านบน