กสม. จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ และร่วมรับฟังข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจากทุกภาคส่วนในพื้นที่

04/06/2567 41

          เมื่อวันที่ 29 - 31 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะรับฟังข้อเท็จจริง และความคิดเห็นจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) จังหวัดชุมพร - ระนอง โดยจัดเวที 3 ครั้งใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง  ศาลาอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาขา อำเภอหลังสวน

          นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดและบรรยายพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมุ่งหมายให้มีพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล และรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ปัญหาและข้อเสนอแนะให้ กสม. นำไปจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาหรือมาตรการในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีนายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบของ กสม. ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานทรัพยากรทางทะเลและฐานทรัพยากรทางบกในพื้นที่ รวมถึงผลการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์

 

          ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวมีการจัดเวทีสานเสวนาแบบสภากาแฟ (World Cafe) ซึ่งผู้เข้าร่วมได้สะท้อนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงในการรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ การไม่ทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านจากหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และข้อเสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดชุมพรและระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีธรรมชาติ การเกษตรสร้างสรรค์ เป็นเมืองน่าอยู่ อากาศสะอาด เมืองสีเขียวประชาชนมีสุขภาวะที่ดี และดำรงวิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบเกษตรพัฒนา มีอาชีพ มีความสุขในฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำ กสม. สรุปผลการดำเนินกิจกรรมและให้ความรู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคีและต้องปฏิบัติตาม รวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรณีดังกล่าว

          อนึ่ง กิจกรรมเวทีสาธารณะรับฟังข้อเท็จจริง และความคิดเห็นฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนได้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนและมีกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังสภาพปัญหา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ในประเด็นการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งการเสริมสร้างและสนับสนุนความร่วมมือของเครือข่ายภาคใต้ตอนบน และให้เกิดการบูรณาการการส่งเสริม คุ้มครองและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้กับเครือข่ายผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและพัฒนาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 150 คน 

          ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้) จะได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะจากกิจกรรมดังกล่าว เสนอต่อ กสม. เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน