กสม. สุภัทรา ประชุมติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยปี 2566 และรับฟังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิแรงงาน

04/06/2567 77

          เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 704 ชั้น 7 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.)  นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประชุมติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยปี 2566 และรับฟังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิแรงงาน ร่วมกับผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน 15 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากรายงานฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อรับฟังสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยปี 2567 ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 45 คน

          ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับทราบสถานการณ์ปัญหาของแรงงานที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานด้วยเหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวี ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีขั้นตอนซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายจากการให้นายหน้าดำเนินการ แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม นายจ้างไม่นำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม การไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองแรงงานที่เป็นระบบเดียวกัน แต่แบ่งแยกแรงงานออกเป็นหลายระบบ เช่น แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานกึ่งอิสระ ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองแตกต่างกัน กลไกในการป้องกันการนำแรงงานไปทำงานที่ต่างประเทศยังไม่เพียงพอทำให้ต้องประสบปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมถึงการเป็นหนี้จากการไปทำงานที่ต่างประเทศ การเรียกคืนเงินตามโครงการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ผู้ประกันตน มาตรา 40) ในช่วงวิกฤตโควิด นอกจากนี้ การผลักดันการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัวยังคงต้องร่วมมือกันผลักดันต่อไป

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่สำคัญหลายประการ เช่น การประกาศใช้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านที่ให้การคุ้มครองที่มากขึ้น การตั้งอนุกรรมการพิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม การศึกษาเพื่อจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน การจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานอิสระ การศึกษาเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 40 นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานที่จะไปทำงานต่างประเทศ การฝึกอบรมอาชีพและออกใบรับรอง และการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เป็นต้น

          ทั้งนี้ กสม. จะได้ติดตามสถานการณ์และปัญหาของแรงงาน รวมถึงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานเพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยปี 2567 ตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน