กสม.ปรีดา เป็นวิทยากรการเสวนาเรื่องความสำคัญของเขตคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

06/06/2567 45

          เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรการเสวนา เรื่อง ความสำคัญของเขตคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์ (Zoom meeting) ในกิจกรรมการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีผู้ร่วมการเสวนาประกอบด้วย นายกิตติ อินทรกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รองศาสตราจารย์ธนพร ศรียากุล กรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลหลีเป๊ะ นางสาวสลวย หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และนายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ดำเนินรายการโดย นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ สำนักนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส 

          ทั้งนี้ กิจกรรมการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2567 ภายใต้แนวทางความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยทักษิณ และภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และพัฒนาความร่วมมือในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย รูปแบบการดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงรำรองเง็ง เพื่อระลึกถึงวิถีชีวิตชาวเลดั้งเดิม การแสดงนิทรรศการเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และความรู้เกี่ยวกับเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ระดับจังหวัด เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล พิธีประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ลำดับที่ 23 เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล

          ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว สำนักงาน กสม. ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการคลินิกสิทธิมนุษยชนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กสม. หรือทางสายด่วน 1377 เพื่อเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน