กสม.ศยามล ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหามลพิษและการกำจัดกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.เพชรบูรณ์

10/06/2567 46

          เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 – 16.30 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์  พลเพชร นางสาวมณีรัตน์  มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับนายจุลพงษ์  ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุนทร  แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะ พร้อมด้วยนางกัญชลี  นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคณะ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ องค์การบริการส่วนตำบลบางบุตร องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง สถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโรงงานเก็บกากสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด และโรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของประชาชน ณ ห้องประชุม 704 ชั้น 7 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบสื่อออนไลน์ (Zoom Meeting)

          สืบเนื่องจากที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ว่าได้พิจารณากรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 22 เมษายน ส่งผลให้ประชาชนหลายครอบครัวต้องอพยพไปอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อหลบเลี่ยงฝุ่นควันและสารเคมีที่กระจายอยู่รอบบริเวณพื้นที่ เนื่องจาก กสม. เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในวงกว้างในหลายมิติ ทั้งสิทธิในสุขภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิชุมชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในแหล่งชุมชนพื้นที่อื่น ๆ อีก กสม. จึงมีมติหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

          ในการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ กรณีโรงงานเก็บกากสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ซึ่งเข้าไปดำเนินกิจการในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2554 ทั้งที่ประชาชนได้คัดค้านการออกใบอนุญาตตั้งแต่แรกเรื่อยมา เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบด้านมลพิษในพื้นที่ แต่ก็มีรายงานการลักลอบฝังกลบของเสียอันตรายและไม่อันตรายในพื้นที่โรงงาน จนเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานและสารเคมีอันตรายถึง 2 ครั้ง เมื่อเดือนมกราคม 2565 และในวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และกรณีโรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเมื่อปี 2563 เกิดเหตุฝุ่นละอองสีเหลืองเหม็นฉุนลอยฟุ้งกระจายออกมาจากโรงงานเข้าสู่หมู่บ้านม่วงชุม ประชาชนจำนวนมากได้รับกลิ่น เกิดอาการระคายเคืองตาและจมูกอย่างรุนแรง มีผู้ป่วยเฉียบพลันจนต้องเข้าโรงพยาบาล สาเหตุมาจากกองขยะอุตสาหกรรมบางส่วนไม่มีวัสดุปิดทับและเข้าข่ายของเสียอันตราย ปัจจุบันชาวบ้านยังได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นและน้ำใช้บ่อบาดาลปนเปื้อนสารเคมี

          ในการประชุมดังกล่าว กสม. ได้สอบถามข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังนี้ 1) การจัดการและการป้องกันกากสารเคมีในโรงงานรั่วไหลและแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม 2) การนำเงินหลักประกันที่วางไว้ต่อศาลมาใช้ในการจัดการกากสารเคมีและการของบกลางมาดำเนินการในส่วนที่เหลือ 3) ความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับกรรมการผู้จัดการของบริษัททั้งสองในความผิดเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งสารเคมี 4) การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยโรงงาน อาทิ การตั้งกองทุน การวางหลักประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรงงาน ความรับผิดชอบต่อความเสียหายของโรงงานที่เลิกกิจการไปแล้ว การเพิ่มโทษทางอาญา และการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานอนุญาตกับหน่วยงานตรวจสอบให้เป็นคนละหน่วยงานกัน ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) 5) กลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การต่อใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต 6) ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนากลไกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ สารเคมีรั่วไหลและตกค้างบนพื้นดิน แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากทุกหน่วยงานด้วยดี

          ทั้งนี้ กสม. จะรวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง ทั้งในประเด็นการทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การพัฒนากลไกการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การเยียวยาความเสียหาย และการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน