กสม. ส่งมอบรายงานผลการตรวจสอบกรณี 9 คนไทยสูญหายในประเทศเพื่อนบ้านต่อผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ชี้รัฐบาลมีหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงและเยียวยาครอบครัวอย่างเป็นธรรม

11/06/2567 42

            วันที่ 10 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งมอบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านให้แก่นายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีผู้แทนญาติผู้สูญหายเข้าร่วม ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

            นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวโดยสรุปว่า กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง ใน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตไประหว่างปี 2560 – 2564 จำนวน 9 ราย ได้แก่ (1) นายอิทธิพล  สุขแป้น (2) นายวุฒิพงศ์  กชธรรมคุณ (3) นายสุรชัย  ด่านวัฒนานุสรณ์ (4) นายชัชชาญ  บุปผาวัลย์ (เสียชีวิต) (5) นายไกรเดช  ลือเลิศ (เสียชีวิต) (6) นายชูชีพ  ชีวะสุทธิ์ (7) นายกฤษณะ  ทัพไทย (8) นายสยาม  ธีรวุฒิ และ (9) นายวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ร้องเห็นว่า รัฐบาลไทยเพิกเฉยในการติดตามผู้สูญหาย และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทำให้เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหาย นั้น 

            กสม. ได้ตรวจสอบโดยพิจารณาจากเอกสาร พยานหลักฐาน หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า (1) กรณีตามคำร้องนี้หน่วยงานของรัฐไม่ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการสืบสวนจนทราบชะตากรรมของบุคคลที่สูญหาย และการดำเนินการสืบสวน เป็นไปอย่างล่าช้า อันกระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริง (right to know the truth) ของญาติและครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต

            (2) การบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อ ครอบครัว และคนใกล้ชิด รวมทั้งสังคมโดยรวม รัฐจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการสูญหายและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงจะต้องชดเชยเยียวยาอย่างรอบด้านให้กับญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

            (3) พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเยียวยาด้านการเงินในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย ส่วนการชดเชยเยียวยาด้านอื่น ก็ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเช่นกัน ทำให้ญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตตามคำร้องนี้ ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

            นางสาวศยามล กล่าวต่อไปว่า แม้กรณีการสูญหายของบุคคลทั้ง 9 ราย ซึ่งต่อมาพบว่ามี 2 ราย เสียชีวิตแล้วนั้น จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้มีการออกหมายจับและพยายามติดตามตัวมาโดยตลอด รวมทั้งผู้ที่สูญหายมีจุดเกาะเกี่ยวที่เชื่อมโยงกันคือเป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 รายนี้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสืบสวนสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดหรือเพื่อให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และละเลยการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต ย่อมถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสูญหายและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 ราย จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหายและรู้ตัวผู้กระทำผิด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ญาติหรือครอบครัว และแจ้งผลการดำเนินการตลอดจนความคืบหน้าให้ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตทราบเป็นระยะ นอกจากนี้ให้เร่งรัดกำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้พัฒนาแนวทางหรือวิธีการสืบสวนกรณีคนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทยถูกกระทำทรมานหรือถูกบังคับให้หายสาบสูญ

            กสม. ยังมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้เร่งให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และให้มีการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศตามพิธีสารดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติด้วย

            นายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข ผู้แทนญาติผู้สูญหาย กล่าวว่า ขอขอบคุณ กสม. ที่รับเรื่องร้องเรียนกรณี 9 คนไทยที่สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้านไปตรวจสอบ กระทั่งมีผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญหายและผู้เสียชีวิต โดยหวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งหน้าสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของผู้สูญหายที่ยังไม่ทราบชะตากรรมจนกระจ่าง และดำเนินการเยียวยาความเสียหายตลอดจนผลกระทบต่าง ๆ ที่ญาติและครอบครัวได้รับ อย่างเป็นธรรมและโดยเร็ว 

            ด้านนายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวหลังรับมอบรายงานผลการตรวจสอบกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ในเรื่องการเยียวยาความเสียหายให้แก่ญาติและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับให้สูญหายนั้น กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดทำระเบียบว่าด้วยการเยียวยา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ญาติและครอบครัวได้รับการเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว อย่างไรก็ดียอมรับว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีข้อจำกัดในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจากเหตุที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยยืนยันว่าหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มีหน้าที่สืบสวนไม่ได้นิ่งนอนใจและมีการประสานงานรวมทั้งมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอแนะจากรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับฟังจากญาติและครอบครัวผู้เสียหายในวันนี้ แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การเยียวยาและสืบสวนหาข้อเท็จจริงมีความคืบหน้ายิ่งขึ้น

                นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. ขอเป็นกำลังใจให้ญาติผู้สูญหาย และขอให้ทราบชะตากรรมของผู้สูญหายโดยเร็ว โดยในเรื่องการเยียวยา กสม. อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำทรมานและบังคับให้สูญหาย โดยมีข้อเสนอแนะให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบ มาตรการ และแนวทางในการเยียวยาให้เป็นตามมาตรฐานสากล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะได้นำข้อเสนอแนะจากรายงานผลการตรวจสอบนี้ ไปดำเนินการเพื่อให้บุคคลทุกคนได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) แล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

10 มิถุนายน 2567

 

สามารถดาวน์โหลดภาพการแถลงข่าวได้ตามลิงก์ดังแนบ
https://drive.google.com/drive/folders/1YR-ZXxbohEX4ywa1Du-jOWSDHjq64UAU?usp=drive_link
ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน