OHCHR จัดฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีสารอิสตันบูลและพิธีสารมินนิโซตาให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.

17/06/2567 175

          เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  ร่วมกับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ) โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้จัดการฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีสารอิสตันบูลและพิธีสารมินนิโซตา (Briefing on the Istanbul and Minnesota Protocols) ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดยมี Professor Dr. Duarte Nuna Viera ศาสตราจารย์ด้านนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ และกฎหมายการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกอิมบรา (University of Coimbra) ประเทศโปรตุเกส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติในด้านนิติวิทยาศาสตร์และการป้องกันการทรมานเป็นวิทยากรหลัก และมีนางสาวสัณหวรรณ ศรีสด และ ผศ. เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ผู้แทน ICJ ร่วมเป็นวิทยากร ในการนี้ นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์การฝึกอบรม ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี

          การฝึกอบรมครั้งนี้เน้นใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีสารอิสตันบูล (2) บทบาทการเฝ้าระวังและการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบตัวบุคคลเพื่อป้องกันการทรมานและการกระทำที่โหดร้าย (3) หลักฐานการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ (5) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีสารมินนิโซตา และ (5) การสัมภาษณ์เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง การบันทึกข้อมูล และการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการทรมานและการกระทำที่โหดร้าย จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในด้านการป้องกันการทรมานภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดย กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ รวมถึงการป้องกันการทรมานและการกระทำที่โหดร้าย โดยผ่านกลไกการรับและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การประเมินและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมาน รวมทั้งการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อป้องกันการทรมาน #การตรวจเยี่ยมเพื่อการป้องกัน

          ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับนี้ เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมานและการกระทำที่โหดร้าย และการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ที่ได้รับการอบรมจะ สามารถนำมาตรฐานระหว่างประเทศดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการทรมานและการบังคับสูญหาย ซึ่งข้อเท็จจริงการเข้าถึงหลักฐานของ กสม. ในประเด็นดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น การมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเข้าถึงหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น

เลื่อนขึ้นด้านบน