กสม. ศยามลลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงกรณีการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

17/06/2567 149

          เมื่อวันที่ 13 - 14 มิถุนายน 2567 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนว่าการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอาจผิดวัตถุประสงค์ของการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้

          วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะเดินทางไปพบผู้ร้องและประชาชนในพื้นที่ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม และประชาชนในพื้นที่มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว

          ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุม 401 (สระมรกต) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้จัดประชุมรับฟังข้อเท็จจริงร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ผู้ร้อง พยานบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปราจีนบุรี พลังงานจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 7 (สระบุรี) สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี และอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี

          ในการนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสมพื้นที่ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายอุตสาหกรรมจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม กระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย แหล่งที่มาและผลกระทบด้านมลพิษของขยะอุตสาหกรรมซึ่งจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนหากมีการตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน