กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 14/2566 กสม. ชี้กรณีรถยนต์ของกลางได้รับความเสียหายและถูกนำไปใช้งานในระหว่างการเก็บรักษาของตำรวจ เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน แนะ สตช. กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด

07/04/2566 164
 
วันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
                   1. กสม. ชี้กรณีรถยนต์ของกลางได้รับความเสียหายและถูกนำไปใช้งานในระหว่างการเก็บรักษา ของตำรวจ เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้เสียหาย แนะ สตช. กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
 
ภาพข่าว-1-01.jpg
 
                   นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2562 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง (สภ. เมืองระยอง) จังหวัดระยอง ได้ยึดรถยนต์ของผู้ร้อง ไว้เป็นของกลางในคดีอาญา ต่อมาศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาไม่ริบรถยนต์ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องได้รับรถยนต์คืนปรากฏว่ารถยนต์ได้รับความเสียหาย ได้แก่ เลขมาตรวัดระยะทางเพิ่มขึ้นกว่า 1,700 กิโลเมตร แบตเตอรี่รถยนต์ถูกถอดออก เบาะนั่งคู่หน้าถูกถอดเปลี่ยนโดยนำเบาะอื่นซึ่งเก่าและขาดมาใส่แทน และ ถูกเรียกเก็บค่าจอดรถ จึงขอให้ตรวจสอบ
                   กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 37 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคล ในทรัพย์สิน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถยึดสิ่งของที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ โดยที่ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 บทที่ 9 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการเก็บรักษารถของกลางไว้ว่า ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษา รถของกลาง เก็บรักษารถไว้ภายในบริเวณสถานที่ทำการของตนหรือสถานที่อื่นใดตามที่ผู้กำกับการกำหนด โดยการเก็บรักษาให้ใช้ความระมัดระวังตรวจตรารถของกลางให้เป็นอยู่ตามสภาพเดิมเท่าที่สามารถจะรักษาไว้ได้ และให้พนักงานสอบสวนและผู้นำส่งรถของกลางบันทึกในรายงานประจำวันให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับรถของกลาง อันจะเป็นเหตุให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิจะรับรถของกลางคืนนั้นทราบว่าเป็นรถของตนและสามารถพิสูจน์ได้ด้วย
                   จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่พนักงานสอบสวน สภ. เมืองระยอง เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ผู้ร้องได้ถ่ายภาพหน้าจอซึ่งแสดงเลขมาตรวัดระยะทางของรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จากการตรวจสอบสมุดคุมบัญชีของกลางในคดีอาญาของ สภ. เมืองระยอง ซึ่งเป็นการลงบันทึกในเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า มีการระบุรายละเอียดของตัวรถเพียงแค่ชื่อรถ ยี่ห้อ สี และหมายเลขทะเบียนเท่านั้น และรถยนต์คันดังกล่าวถูกนำไปจอดไว้ในพื้นที่ของเอกชนซึ่ง สภ. เมืองระยอง ในฐานะผู้ถูกร้องใช้เป็นสถานที่เก็บรถของกลาง ต่อมา เมื่อผู้ร้องไปรับรถยนต์คืนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า เลขมาตรวัดระยะทางของรถยนต์คันดังกล่าวมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากวันที่ส่งมอบรถยนต์ให้กับ สภ. เมืองระยอง กว่า 1,700 กิโลเมตร ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหลักฐานภาพถ่ายมาตรวัดระยะทางที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับวันที่มีการบันทึกข้อมูลการตรวจยึดในสมุดคุมบัญชีของกลางซึ่งเป็นการลงบันทึกภายหลังจากวันที่พนักงานสอบสวนได้ทำการตรวจยึดเป็นเวลากว่า 6 เดือน จึงอาจเป็นช่องว่างให้มีการนำรถยนต์ คันดังกล่าวไปใช้งานได้ ในชั้นนี้ จึงน่าเชื่อว่ารถยนต์ของกลางนี้ถูกนำไปใช้งานในระหว่างการเก็บรักษาของผู้ถูกร้อง โดยมีลักษณะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลาง และ ไม่มีมาตรการที่ดีเพียงพอในการเก็บรักษา อันเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้อง
                   สำหรับกรณีที่เบาะนั่งคู่หน้ารถยนต์ของผู้ร้องถูกเปลี่ยนออกแทนที่ด้วยเบาะเก่า ผู้ร้องได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ. เมืองระยอง เพื่อให้ดำเนินคดีกับเอกชนเจ้าของสถานที่รับเช่าจอดรถยนต์แล้ว แต่ สภ.เมืองระยองมิได้ดำเนินการตรวจสอบหรือสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง กลับปล่อยปละละเลยจนกระทั่งผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อ กสม. สภ. เมืองระยองจึงได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาเจรจาไกล่เกลี่ย ส่วนกรณีที่แบตเตอรี่รถยนต์ของผู้ร้องถูกถอดเปลี่ยนโดยเอกชนเจ้าของสถานที่เก็บรักษารถยนต์โดยอ้างว่าเพื่อนำไปชาร์จไฟให้แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ เห็นว่า การกระทำใด ๆ ต่อรถยนต์ของผู้ร้อง จำเป็นต้องแจ้งและได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเสียก่อน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของ ผู้ร้องเช่นกัน
                   ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกเอกชนเจ้าของสถานที่รับจอดรถยนต์เรียกเก็บเงินค่าเก็บรักษารถยนต์ในราคาเดือนละ 500 บาท เห็นว่า การที่ สภ. เมืองระยองกำหนดให้พื้นที่เอกชนตามคำร้องเป็นสถานที่เก็บรถยนต์ของกลาง โดยไม่มีสัญญาเช่าและไม่ได้ให้ค่าตอบแทน เป็นการดำเนินการโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ และการที่ สภ. เมืองระยอง อนุญาตให้เจ้าของพื้นที่เรียกเก็บเงินจากผู้ร้องก็เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กำหนดไว้ ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้ประสงค์จะนำรถยนต์ คันดังกล่าวไปจอดไว้ในสถานที่ของเอกชนและยินยอมเสียค่าบริการในการจอดรถ แต่เป็นคำสั่งของ ผู้ถูกร้องที่สั่งให้นำรถยนต์ของผู้ร้องซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญาไปจอดไว้ในสถานที่ของเอกชน ผู้ร้องจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจอดรถยนต์ให้กับเอกชนเจ้าของสถานที่ การดำเนินการเช่นนี้ จึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทบสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้อง และไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกประการหนึ่ง
                   ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สรุปได้ดังนี้
                   ให้ สตช. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นที่มีการร้องเรียน และหากพบว่ารถยนต์ของผู้ร้องได้รับความเสียหายในระหว่างที่ ถูกตรวจยึด ก็ให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ร้อง พร้อมกันนี้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้พื้นที่เอกชนในกรณีตามคำร้องนี้เป็นสถานที่เก็บรักษารถยนต์ของกลาง และปล่อยปละละเลยให้มีการเรียกเก็บค่าจอดรถซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบ สตช. แล้วนำผลการตรวจสอบไปกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะเดียวกับคำร้องนี้อีก
                   ทั้งนี้ ให้ สตช. แก้ไขปัญหาในภาพรวมเกี่ยวกับการเก็บรักษาของกลางในคดีอาญา โดยควรมีระบบหรือมาตรการในการเก็บรักษาทรัพย์ของกลางให้รอบคอบ มีความปลอดภัย สามารถป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์ที่ถูกยึดไว้เป็นของกลาง การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ของกลางหรือนำไปใช้โดย มิชอบ รวมถึงแจ้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจในสังกัดทั่วประเทศ ปฏิบัติตามระเบียบ สตช. ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน
ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเกินสมควรแก่กรณี ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
                   2. กสม. แนะกรมราชทัณฑ์แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนสำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ ย้ำเป็นสิทธิด้านสุขภาพ
 
ภาพข่าว-2-01(1).jpg
 
                   นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักกิจกรรมและเครือข่าย ภาคประชาชนเพื่อคนหลากหลายทางเพศ กรณีผู้ต้องขังข้ามเพศ (Transgender) ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ผมร่วง น้ำหนักเพิ่ม อารมณ์แปรปรวน รูปร่างสรีระเปลี่ยน เป็นต้น โดยระบุว่า ข้อกำหนดของเรือนจำที่ให้ความสำคัญกับเพศกำเนิด ชาย-หญิง เท่านั้น ทำให้การใช้ฮอร์โมนและยาคุมกำเนิดของผู้ต้องขังข้ามเพศไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของเรือนจำยังขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศจึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ต้องขังข้ามเพศในหลายมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่ การพัฒนาตนเอง และด้านสุขภาพ รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากความต้องการได้รับฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศอีกด้วย
                   กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาการเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศ อาจมีผลกระทบต่อ สิทธิในสุขภาพของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านจิตใจและร่างกาย โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 26 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะต้องมีความเสมอภาคกันในกฎหมายและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างระหว่างเพศจะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้รับรองความเสมอภาคของบุคคลที่จะมีสุขภาพที่ดีตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงมีมติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้จัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้ง การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีดังกล่าวขึ้น โดยได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานของรัฐและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นสรุปได้ดังนี้
                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำ ICCPR ตีความคำว่า “เพศ” ให้หมายรวมถึง รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และ อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) โดยเมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ก็เห็นว่า มิได้จำกัดความหมายในเชิงของเพศสรีระหรือเพศกำเนิดเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงเพศภาวะ (gender) และบทบาททางเพศ (sexual role) ด้วย เนื่องจากหากมีการตีความจำกัดแต่เพียงเพศสรีระ ทำให้การตีความปรับใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมที่จะต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติให้ครอบคลุมทุกเพศอยู่เรื่อยไป ดังนั้น สิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยเสมอกันตามความหมายของรัฐธรรมนูญย่อมรวมไปถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) แตกต่างจากเพศสรีระด้วย
                   สำหรับการเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศในประเทศไทยปัจจุบัน ปรากฏแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ซึ่งแบ่งกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศที่ต้องการเข้าถึงฮอร์โมนระหว่างคุมขังออกเป็น 3 กรณี ดังนี้ (1) บุคคลที่ได้รับฮอร์โมนก่อนถูกคุมขังภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ สามารถได้รับฮอร์โมนต่อเนื่อง แม้จะถูกคุมขังแล้ว เนื่องจากมีคำสั่งของแพทย์และรับรองให้นำเข้าไปใช้ได้ กรณีนี้จึงไม่มีปัญหาในการเข้าถึงฮอร์โมน แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ต้องขังต้องชำระเอง (2) บุคคลที่ใช้ฮอร์โมนเอง โดยปราศจากการดูแลของแพทย์ เมื่อถูกจำคุก จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฮอร์โมน เนื่องจากผู้ต้องขังจะ ไม่สามารถนำสิ่งของอื่นนอกจากยาหรือเวชภัณฑ์ตามคำสั่งของแพทย์เข้ามาในเรือนจำได้ และ (3) บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งไม่เคยรับฮอร์โมนมาก่อน แต่ภายหลังประสงค์จะรับฮอร์โมนในเรือนจำ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฮอร์โมนเช่นเดียวกัน 
                   เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาในกรณีที่สองและกรณีที่สามแล้วจะเห็นว่า ผู้ต้องขังข้ามเพศจะ ไม่สามารถเข้าถึงการใช้ฮอร์โมนได้เช่นผู้ต้องขังกรณีแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือความเห็นจากแพทย์ให้ใช้ฮอร์โมน ประกอบกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำยังคงเป็นการปฏิบัติตามเพศกำเนิดหรือ เพศตามที่เอกสารทางราชการได้ระบุสถานะไว้ ทำให้ผู้ต้องขังข้ามเพศบางรายไม่อาจเข้าถึงฮอร์โมนได้ กสม. จึงเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ยังคงถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และแนวทางการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการใช้ฮอร์โมน อันถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลเรื่องเพศด้วย จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขโดยควรกำหนดให้ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ไม่มีเอกสารรับรองการใช้ฮอร์โมนจากแพทย์ทั้งในกลุ่มที่ได้เคยใช้ฮอร์โมนเองก่อนการถูกคุมขังและกลุ่มที่ไม่เคยใช้ฮอร์โมนมาก่อน ให้ได้รับการตรวจรับรองและดูแลจากแพทย์ของเรือนจำหรือที่เรือนจำจัดหาเพื่อให้ผู้ต้องขังข้ามเพศได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายต่อไป ทั้งนี้ แม้ผู้ต้องขังข้ามเพศจะเป็นเพียงอัตราส่วนที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังอื่น แต่การเข้าถึงฮอร์โมนเพศถือเป็นการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (medical treatment) ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของบุคคลข้ามเพศและเป็นสิทธิในสุขภาพประเภทหนึ่งที่รัฐพึงตระหนักเพื่อมิให้สถานะทางกฎหมายของเพศกำเนิดหรือมาตรการทางกฎหมายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ 
                   ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศของผู้ต้องขังข้ามเพศไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
                   ให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการจัดให้มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านฮอร์โมนและสูตินรีเวชศาสตร์ และจิตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยการใช้ฮอร์โมนของผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ฮอร์โมนเองก่อนถูก คุมขัง โดยให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนแก่บุคลากรเพื่อดูแลด้านสุขภาวะของผู้ต้องขังข้ามเพศ รวมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขทบทวนและปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงฮอร์โมนโดยให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
                   นอกจากนี้ ให้กรมราชทัณฑ์ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวปฏิบัติอื่นใด ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะทางเพศของผู้ต้องขังข้ามเพศ เพื่อให้ผู้ต้องขังข้ามเพศสามารถใช้ฮอร์โมนได้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่กรมราชทัณฑ์จัดหาให้ด้วย 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
7 เมษายน 2566
V-3-แถลงข่าวครั้งที่14-2566_07-04-66-(1).pdf
 

 

07/04/2566
ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน