กสม. ร่วม สสส. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน

20/06/2567 219

          วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ (Facebook Live)

 

          กิจกรรมในช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยการกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดสัมมนา โดย นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สำนักงาน กสม.  โดยคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้ติดตามการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทราบว่ามีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม/กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/พรรคก้าวไกล (3) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... ยกร่างและเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร/พรรคพลังประชารัฐ และ (4) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... ยกร่างโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชน

การจัดงานสัมมนาในวันนี้นอกจากจะเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วจึงมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังข้อมูลและความเห็นต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มีกลไกทางกฎหมายที่ตอบสนองต่อวิกฤติโลกเดือดบนหลักคิดด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างรอบด้าน อันจะช่วยให้ กสม. สามารถจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมายดังกล่าวต่อรัฐบาลได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น

 

          นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานสัมมนา สรุปว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาเห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น กากขยะจากอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การแย่งชิงทรัพยากรน้ำและที่ดินของชุมชนจากการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ กระทั่งปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวของเราทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกเดือด ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำประปามีรสกร่อย อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือแผ่นดินบริเวณชายฝั่งทรุด ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคนทุกคนในวงกว้างโดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น คนยากจน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ ผู้อพยพ ที่ไม่มีต้นทุนและทรัพยากรในการรับมือกับการเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมได้เท่าประชากรกลุ่มอื่นและอาจได้รับผลกระทบอื่น เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ การขาดแคลนอาหาร และการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ตามมา

 

          ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกภาคส่วนต้องร่วมกันวางแนวทางรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นการมีเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อรับมือและแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องที่ กสม. เห็นว่าสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยสอดคล้องและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนทั้ง (1) สิทธิในเชิงเนื้อหา คือ การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน (2) สิทธิในเชิงกระบวนการ ซึ่งหมายถึง การที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมาย มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมีสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม และ (3) หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งว่าด้วยความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วย ทั้งนี้ กสม. หวังว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกเดือดโดยที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม

         

          ต่อมา มีการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ โดยผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... นำเสนอโดย นางสาวนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และนางสาวศนิวาร บัวบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ผ่านระบบออนไลน์) (2) ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. .... นำเสนอโดย ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ และ (3) ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... นำเสนอโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการด้านกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ

 

          จากนั้น เป็นการนำเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชน โดย นางสาวร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ผ่านระบบออนไลน์) นายคณาเดช ธรรมนูญรักษ์ Regional Technical Advisor องค์กร FHI 360 และรองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม.

กิจกรรมในช่วงบ่าย มีการระดมความเห็น “กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราอยากเห็น” จากผู้เข้าร่วมสัมมนาภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 150 คน และการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มย่อย ช่วงท้าย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปผลการระดมความคิดเห็น โดยมีนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปิดการสัมมนา

เลื่อนขึ้นด้านบน