กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายจัดประชุมติดตามและขับเคลื่อนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

20/06/2567 311

          เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30-15.30 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนา และเป็นวิทยากรนำเสนอประเด็น “ทำไมต้องมีกฎหมายขจัดการเลือกปฎิบัติต่อบุคคล” ในโครงการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน เรื่อง “เราจะมีกฎหมายขจัดการเลือกปฎิบัติต่อบุคคลกันกี่โมง” พร้อมด้วย คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. คุณภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฎิบัติ (MovED) ณ ห้องลาเวนเดอร์ 2 ชั้น 3 โรงแรมทีเค พาเลซ & คอนเวนชั่นแจ้งวัฒนะ และผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoomโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาทนายความ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคท้องที่ไทย พรรคใหม่ มหาวิทยาลัยรังสิต หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ Thai online Station และเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ 16 องค์กร รวมจำนวน 100 คน

 

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมรัฐบาลที่มีเจตจำนงค์ทางการเมืองทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 38 ของโลก เป็นอันดับ 3 ในเอเชียต่อจากใต้หวันและเนปาล และเป็นชาติแรกในอาเซียน ที่มีกฎหมายให้สิทธิบุคคลทุกเพศสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม ขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นการยกระดับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ไม่เฉพาะมิติทางสังคมแต่เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งกสม. สนับสนุนให้มีกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ยังมีกฎหมายอีก 3 ฉบับ ที่เป็นหมุดหมายของการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมไทย คือ กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ กฎหมาย Sex Worker โดยผลักดันให้ยกเลิก พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งเป็นความพยายามผลักดันของภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

 

          กสม. ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะหลักความเสมอภาคเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติอยู่ในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับของสหประชาชาติ สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจึงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน รวมทั้งการขจัดการเลือกปฏิบัติเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ด้วย รัฐธรรมนูญของประเทศไทยรับรองสิทธิ ความเสมอภาค และห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการออกกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติกลุ่มเฉพาะหลายฉบับ แต่ยังไม่มีกฎหมายกลาง ที่เป็นกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27  ซึ่งถ้ามีกฎหมายกลางจะช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งการป้องกันการคุ้มครองสิทธิ และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงริเริ่มจัดทำร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเมื่อปี 2560 และดำเนินการยื่นริเริ่มเสนอกฎหมายนี้และได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ 12,000 กว่ารายชื่อ เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมามีการวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งร่างไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ตั้งแต่ปี 2564 ต่อมากระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทิและเสรีภาพ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และรัฐมนตรีว่าการประทรวงยุติธรรม (พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง) ได้ลงนามเสนอร่างกฎหมายนี้ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 วันนี้เราจะได้มาติดตามความคืบหน้ากันว่าร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทั้งสองฉบับอยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดการสัมมนาในวันนี้

 

          จากนั้น เป็นการเสวนาหัวข้อ “เราจะมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลกันกี่โมง” โดยวิทยากรประกอบด้วย คุณกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย คุณกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเป็นธรรม คุณสมเดช พูนนำเภา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม และคุณจารุณี ศิริพันธุ์  เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ดำเนินรายการโดย คุณรุ่งโรจน์ สมบุญเก่า  ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

          สำหรับในภาคบ่าย เป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อวางแผนขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในก้าวต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน