กสม. ปรีดา ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานของรัฐ กรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชน

24/06/2567 179

               เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) ประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 อุทยานแห่งชาติเขานัน อำเภอนบพิตำ องค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง และผู้แทนประชาชน

               การประชุมดังกล่าวสรุปได้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องดังกล่าวและได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับชุมชน พบว่าแนวเขตตามแผนที่ประกาศฯ ไม่ตรงกับแนวเขตแผนที่ที่ทำการสำรวจร่วมกันในบางพื้นที่จริง และได้ประมวลเรื่องส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ มีศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยระบบดาวเทียม ซึ่งหากการติดตามเฝ้าระวังพบเหตุการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ หน่วยงานอุทยานที่รับผิดชอบพื้นที่จะดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย สำหรับกรณีนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชน อุทยานแห่งชาติเขานันได้มีการชะลอการดำเนินการไว้ก่อน 

               ในการนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยมีมติให้จังหวัดนครศรีธรรมราชสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อทำการตรวจสอบแนวเขตใหม่ พร้อมการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอแก่ประชาชน การประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความประสงค์ในการสำรวจการถือครองที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมไปยังกรมอุทยานฯ เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีข้างต้น รวมทั้งให้เร่งรัดการพิจารณากฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ด้วย และให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสถานีตำรวจภูธรนบพิตำเพื่อพิจารณาดำเนินการชะลอการดำเนินคดีจนกว่าการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแนวเขตจะแล้วเสร็จ

               ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ จะได้รวบรวมข้อมูลและรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน