กสม. ร่วมกิจกรรม “Ayutthaya Pride 2024” และเสวนาหัวข้อ “สมรสเท่าเทียมและเมืองที่เปลี่ยนแปลง หลังกฎหมายได้รับการรับรอง”

24/06/2567 52

               วันที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 15.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. องค์กรภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศ อาทิ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (swing) มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ผู้แทนพรรคการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมเดินขบวนในกิจกรรม “Ayutthaya Pride 2024”  เพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเนื่องในโอกาสเดือนแห่งความภาคภูมิใจของคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเส้นทางการเดินขบวนจากบริเวณวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ถึงเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยา

               จากนั้นเวลา 18.30 น. ที่ศูนย์การค้า Central Ayutthaya ในกิจกรรม “Ayutthaya Pride 2024”  นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สมรสเท่าเทียมและเมืองที่เปลี่ยนแปลง หลังกฎหมายได้รับการรับรอง” สรุปว่า กสม. สนับสนุนและผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมมาโดยตลอด เนื่องจากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวสำหรับคนทุกคนคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กสม. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือร่าง กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งนับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 23 ปี กระทั่งในเดือนไพร์ดของปีนี้ ประเทศไทยสามารถมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้เป็นประเทศที่ 38 ของโลก ประเทศที่ 3 ในเอเชีย และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน

               เมื่อถามถึงความห่วงกังวลต่อการใช้บังคับกฎหมาย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า อาจมีปัญหาด้านทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในรายละเอียดของการบังคับใช้กฎหมายจากอคติทางเพศที่ยังอยู่ในสังคมไทยมาช้านานซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องร่วมกันผลักดดันกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะคุ้มครองมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนทุกคนทุกกลุ่ม เช่น คนพิการ ผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งมักประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติทั้งในมิติของการจ้างงาน หรือ การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ด้วย

               สุดท้าย กสม. ขอเน้นย้ำว่า การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคมแล้ว แต่สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศรวมทั้งจังหวัดอยุธยาในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันสืบเนื่องธุรกิจจากการแต่งงานและการสร้างครอบครัวต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน