กสม. ร่วมมือ ตร. “ขยับ ปรับ และปิดช่องว่าง” มุ่งเป้า “สังคมไทยไร้การทรมาน” ลดจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกอายัดตัวจนกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ และเสริมประสิทธิภาพ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. 2565

26/06/2567 18

          เมื่อวันที่ 21 – 22 มิถุนายน 2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ร่วมกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา (คด.) และ พ.ต.อ. ชัยธนันท์ จิรปิยเศรษฐ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจสำนวน 3 คด. สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) สำรวจสถานีตำรวจในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ประชุมทำความเข้าใจ พร้อมแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อมูลจากผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) เชียงใหม่ และลำพูน และสถานีตำรวจภูธร (สภ.) 38 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่ และ 12 แห่ง ใน จ.ลำพูน โดยติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสิทธิมนุษยชนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 2 ส่วนหลัก คือ (1) การตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้า และ (2) การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ร่วมกันสำรวจสถานีตำรวจ 4 แห่ง คือ สภ.แม่ปิง (ขนาดใหญ่) อ.เมือง และ สภ.แม่แฝก (ขนาดเล็ก) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และ สภ.นิคมอุตสาหกรรม (ขนาดใหญ่) อ.เมือง และ สภ.บ้านธิ (ขนาดเล็ก) อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เพื่อทำความเข้าใจการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

          ในช่วงแลกเปลี่ยนกับ ภ.จว. 2 แห่ง และ สภ.ทั้ง 50 แห่ง และกับ 4 สถานีในแผนการสำรวจ ใน จ.เชียงใหม่ และลำพูน นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “หลังจากการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนใน กสม. ที่ผ่านมา ได้ออกแบบการทำงานในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับการทำงานกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ตั้งแต่การรับแจ้งความ การจับกุม การคุมขัง การออกหมายอาญา การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และการเร่งรัดดำเนินคดี โดยได้รับความร่วมมือและติดตามการทำงานกับ ตร. และเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจน คือ การตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้า

 

          ทั้งนี้ ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กสม. เห็นว่า ตร. เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ช่วยป้องกันการกระทำทรมานตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงร่วมมือกับ ตร. สำรวจสถานีตำรวจเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นธาร โดยผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คือ ตร. จะนำไปจัดทำแผนการพัฒนากระบวนการที่เหมาะสม และ กสม. จะจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายการปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะเสริมระหว่างกัน”

 

          พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิตต์ ผู้แทน ตร. ย้ำความสำคัญของการดำเนินงานและรูปธรรมการทำงานดำเนินงานที่ ตร. จัดทำ ใน 2 เรื่อง คือ 1) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นต้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่ง ตร. ได้ดำเนินการพัฒนาแล้ว ทั้งการจัดทำระบบรับแจ้งความออนไลน์ หรือการรับแจ้งความต่างท้องที่ ซึ่ง กสม. ได้เสนอแนะให้ ตร. จัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจและการสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจ ซึ่งนำมาสู่การดำเนินงานในครั้งนี้ และ2) การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดโดยพนักงานสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 138/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งทั้งสองเรื่องมีส่วนช่วยพัฒนาสถานที่ลิดรอนเสรีภาพของบุคคล เพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงห้องควบคุมตัวในสถานีตำรวจต่าง ๆ

 

          ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจาก กสม. และ ตร. ได้เข้าสำรวจ ทำความเข้าใจ และสัมภาษณ์ผู้กำกับการ และผู้ปฏิบัติงานใน 4 สถานี ในสามมิติ คือ มิติที่หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รับผิดชอบ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน จำนวนและประเภทคดี มิติที่สอง กระบวนการปฏิบัติงาน และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมิติที่สาม แนวทางการปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น กสม. ได้สำรวจพื้นที่สถานีตำรวจไปแล้ว 2 ภูมิภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2567 และภาคใต้ (จ.สงขลา ปัตตานี และยะลา) ระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2567 และหลังจากนี้ กำหนดสำรวจในพื้นที่ภาคตะวันตก (จ.นครปฐม หรือกาญจนบุรี) ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดเวลา ก่อนที่จะประมวลข้อค้นพบในสามมิติข้างต้น จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการทำงานของสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสนอต่อรัฐบาล และส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน