กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 22/2567 กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น - จัดโครงการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลให้แก่พระภิกษุและสามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

28/06/2567 991

            วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 22/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 จากผู้ร้องสามคน ระบุว่า โรงเรียนในเครือจตุรมิตร ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย บังคับให้นักเรียนเข้าร่วมงานฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน 2566 โดยนักเรียนถูกบังคับให้ซ้อมเชียร์และแปรอักษรก่อนวันจัดงาน ทำให้เสียเวลาที่ควรได้เข้ารับการศึกษาในหลายชั่วโมงเรียน ทั้งยังปรับชั่วโมงกิจกรรมชุมนุมเพื่อฝึกซ้อมเชียร์และแปรอักษร ซึ่งมีผลกระทบต่อการพิจารณาและประเมินผลการศึกษาให้ผ่านหรือไม่ผ่านในชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และในวันงานฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี นักเรียนจะต้องนั่งแปรอักษรบนอัฒจันทร์ที่แออัดท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดติดต่อกันเกินกว่า 8 ชั่วโมง ไม่สามารถลุกจากที่นั่งหรือไปเข้าห้องน้ำได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการต้องปีนข้ามไปนั่งบนอัฒจันทร์ที่มีการต่อเติมบริเวณประตูทางขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่ง นอกจากนี้ นักเรียนซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่กลับไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ร้องทั้งสามเห็นว่า การกระทำข้างต้นของโรงเรียนในเครือจตุรมิตรมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิทางการศึกษา สิทธิในสุขภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การนำการเชียร์และแปรอักษรมาประกอบการพิจารณาและประเมินผลการศึกษาในชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไม่ได้นำการเชียร์และแปรอักษรปรับเป็นชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาและการประเมินผลการศึกษาของนักเรียน ส่วนโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้นำการเชียร์และแปรอักษรไปปรับเป็นชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในรายวิชากิจกรรมชุมนุม โดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของวิชากิจกรรมชุมนุมตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบกับการดำเนินการข้างต้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาและประเมินผลการศึกษา นักเรียนสามารถลาเชียร์และแปรอักษรได้ ทั้งระหว่างการซ้อมและในวันจัดการแข่งขัน และนักเรียนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมอื่น ๆ ได้ตามความสนใจ ส่วนนักเรียนที่มีอาการเจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพไม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ โรงเรียนทั้งสี่ยังได้บริหารจัดการซ้อมเชียร์และแปรอักษร ผ่านการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู และผู้บริหาร โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของนักเรียนและฝ่ายวิชาการของแต่ละโรงเรียนในการจัดสรรตารางเวลาซ้อมเชียร์เพื่อให้กระทบกับการเรียนของนักเรียนน้อยที่สุด ประเด็นนี้จึงไม่ปรากฏว่าโรงเรียนผู้ถูกร้องทั้งสี่มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นที่สอง การจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ได้ให้ความสำคัญกับหลักการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก สิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในการพัฒนา สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข สิทธิในการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการเล่น และสิทธิในการพักผ่อน 

            จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า โรงเรียนในเครือจตุรมิตรได้จัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัย มาตรการด้านสุขภาพ สุขอนามัย และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีข้อปฏิบัติร่วมของทั้งสี่สถาบัน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียนอย่างเหมาะสมตลอดระยะเวลาจัดการแข่งขัน ผ่านการประชุม หารือ และประสานงานร่วมกันทั้งในระดับโรงเรียนและระหว่างโรงเรียน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ทั้งฝ่ายครูและฝ่ายนักเรียน และมีการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนได้รับอันตราย หรือประสบเหตุร้ายแรงใด ๆ อีกทั้งมีมาตรการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่อาจเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมเชียร์ โดยเฉพาะการจัดอุปกรณ์ป้องกันแสงอาทิตย์และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอย่างเพียงพอ การจัดเตรียมทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที การจัดให้มีนักเรียนกลุ่มสำรองไว้คอยสลับเปลี่ยนการทำหน้าที่เชียร์และแปรอักษรบนอัฒจันทร์แทนนักเรียนที่ต้องการเข้าห้องน้ำ และการดูแลนักเรียนให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน เช่น การแจกถุงปัสสาวะแบบเจล และการใช้ LINE OpenChat เพื่อสื่อสารกันระหว่างนักเรียนกับพี่เลี้ยงประจำแถว ทั้งยังให้ความสำคัญกับบทบาทการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษร โดยมีผู้บริหาร ครู คณะอนุกรรมการ 21 ฝ่าย บุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่ายของโรงเรียนในเครือจตุรมิตรร่วมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน 

            อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า เนื่องจากการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก และถือเป็นประเพณี ประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจของชาวจตุรมิตรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนในเครือจตุรมิตรที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนในเครือจตุรมิตรทั้ง 4 แห่งในการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษร สรุปได้ดังนี้

            ให้จัดเตรียมเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่าง ๆ ให้เพียงพอ เช่น อุปกรณ์ป้องกันฝน ถุงเก็บปัสสาวะฉุกเฉินหรือถุงเก็บปัสสาวะแบบเจล เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง รวมทั้งร่วมกันถอดบทเรียนการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 เพื่อรับทราบสภาพปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับใช้กำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหรือแนวปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการเวลาหลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมเพื่อไม่ให้นักเรียนต้องใช้เวลาอยู่บนอัฒจันทร์นานเกินกว่าที่จำเป็น การเพิ่มเวลาพัก และการกำหนดมาตรการหมุนเวียนสับเปลี่ยนนักเรียนที่ทำหน้าที่เชียร์และแปรอักษร

            ทั้งนี้ ควรจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรให้มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็น การประเมินความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยพิจารณาให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเด็กอย่างเหมาะสมตามอายุและวุฒิภาวะของเด็กด้วย

 

            2. กสม. จัดโครงการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลให้แก่พระภิกษุและสามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

            นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัด “โครงการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะของบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เพื่อเทิดพระเกียรติและสนองพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และเพื่อเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้กับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยมีเจ้าคณะจังหวัด พระเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา รวม 22 จังหวัด เจ้าคณะอำเภอเชียงราย เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิทธิและสถานะบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน เข้าร่วมโครงการ โดยร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางในการสำรวจข้อมูลสถานะของพระภิกษุ สามเณรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 และแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ณ หอประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

            การจัดโครงการดังกล่าว สำนักงาน กสม. ได้กราบนมัสการเชิญเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์เปิดงานและมอบบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กับพระภิกษุสามเณร จำนวน 18 รูป โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สอดรับกับงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม นอกจากนี้การที่หลายหน่วยงานได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของพระภิกษุ สามเณร และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร นับเป็นการเกื้อกูลให้พระสงฆ์ สามเณร ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และสามารถศึกษาปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยได้สมบูรณ์ 

            นางสาวปิติกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยมีมาอย่างยาวนาน โดยปรากฏข้อมูลของกรมการปกครอง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ว่า บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยทั่วประเทศยังมีจำนวนกว่า 990,000 คน แม้ภาครัฐจะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลด้วยการพัฒนากฎหมายและแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่พบว่าการดำเนินการยังมีข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิสูจน์หรือแก้ไขสถานะบุคคล รวมทั้งความล่าช้าในกระบวนการพิสูจน์และกำหนดสถานะ ทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่ครอบคลุมผู้มีปัญหาสถานะบุคคลทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพระภิกษุและสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม 

            จากการที่ กสม. ได้ประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็น รวมถึงลงพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า พระภิกษุและสามเณรที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) พระภิกษุและสามเณรที่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะทางทะเบียน และ (2) พระภิกษุและสามเณรที่มีสถานะทางทะเบียน แต่อาจปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้านการเดินทางเข้าเมือง ส่งผลให้ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมและปัญหาด้านเสรีภาพในการถือศาสนาตามความเชื่อ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและไม่มีหลักฐานที่อยู่แน่ชัด ไม่อาจบรรพชาหรืออุปสมบท หรือหากได้รับการบรรพชาหรืออุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็ไม่อาจรับรองสถานะ และไม่อาจได้รับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ แม้จะมีคุณสมบัติทางพระธรรมวินัยที่เหมาะสมก็ตาม

            จากสภาพปัญหาดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานะบุคคลอันเกี่ยวเนื่องกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของพระภิกษุและสามเณร โดยเสนอให้กรมการปกครองร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำรวจข้อมูลกลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ แล้วพิจารณากำหนดสถานะบุคคลให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และเมื่อเดือนตุลาคม 2566 มหาเถรสมาคมมีมติให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสม. ในการจัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูลของพระภิกษุสามเณร ที่มีสัญชาติไทย ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติ ที่บวชอยู่ในประเทศไทยต่อไป

            “กสม. เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยจะติดตามและมีส่วนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชากรทุกกลุ่มได้รับการรับรองความเป็นคนตามกฎหมายในทุกแห่งหน และสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ ได้อย่างเสมอภาค ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และสอดคล้องตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเป็นหุ้นส่วนที่ดีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเข้าร่วมโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปภายในปี 2567” นางสาวปิติกาญจน์ กล่าว

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

28 มิถุนายน 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน