กสม. ศยามล เข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนากลไกการไต่สวนสาธารณะระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหารือกับ กสม. ฟิลิปปินส์

02/07/2567 138

          เมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมซิตาดีน รอเซ เกซอน ซิตี้ เมืองเกซอน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) โดย นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำ กสม. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมเพื่อพัฒนากลไกการไต่สวนสาธารณะระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Inter-NHRI Inquiry Mechanism: INIM) จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Commission on Human Rights of the Philippines: CHRP) โดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเจ้าหน้าที่จากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 5 สถาบัน เข้าร่วมประชุม ได้แก่ กสม. อินโดนีเซีย (Komnas HAM) กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) และ กสม. ไทย รวมทั้ง ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กสม. ฟิลิปปินส์ประมาณ 30 คน การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อหารือถึงประเด็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกลไกการคุ้มครองและการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิผล รวมทั้งระบุประเด็นปัญหาที่มีลักษณะข้ามพรมแดนร่วมกันระหว่างสถาบันที่เข้าร่วมประชุม เพื่อจะนำไปสู่การจัดตั้งกลไก INIM เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเด็นข้ามพรมแดน

          ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของผลกระทบข้ามพรมแดนและการออกแบบขับเคลื่อนกลไกระดับภูมิภาคในการแก้ไขจัดการข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ผู้อำนวยการกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชีย-แปซิฟิก (APF) ได้กล่าวถึงการสนับสนุนการทำงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวอย่างความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในประเด็นที่มีลักษณะข้ามพรมแดน นอกจากนี้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดชอบข้ามพรมแดน และการฟ้องคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป และอเมริกา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การไต่สวนสาธารณะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ กสม. ฟิลิปปินส์ และการทำงานในประเด็นคนไร้รัฐระหว่าง กสม. อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่ กสม. ฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอแนวทางและแผนการทำงานของกลไก INIM จากนั้น ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการสนับสนุนการจัดตั้งกลไก INIM และรูปแบบการทำงานที่เป็นไปได้ร่วมกัน

          ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

          - ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดให้ 2 ประเด็นข้ามพรมแดนนี้เป็นประเด็นนำร่องของ INIM ได้แก่ (1) ประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องแรงงานข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ และ (2) ประเด็นด้านสิทธิในสิ่งแวดล้อม เรื่องมลพิษทางอากาศ

          - กสม. อินโดนีเซีย กสม. มาเลเซีย กสม. ฟิลิปปินส์ และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต ได้ร่วมลงนามในถ้อยแถลงแสดงการสนับสนุนการจัดตั้งกลไก INIM (Statement of Support for the Establishment of INIM) โดยในส่วนของ ผู้แทน กสม. เห็นว่ากลไกดังกล่าวเป็นความริเริ่มที่ดี จึงจะนำรายละเอียดและข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสม. เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าร่วมกลไก INIM จะสอดคล้องตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง กสม. จะแจ้งให้ กสม. ฟิลิปปินส์ทราบโดยเร็วต่อไป

          - กสม. ฟิลิปปินส์จะจัดประชุมออนไลน์ระหว่างสถาบันที่สนใจเพื่อร่วมดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป ได้แก่ การประชุมคณะทำงาน (Technical Working Group) การจัดทำการร่างระเบียบว่าด้วยการไต่สวนข้ามพรมแดนและกำหนดขั้นตอนการทำงาน (Rules of Inquiry and Operational Protocols) และร่างบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding: MOA) และการลงนาม MOA ต่อไปตามลำดับ 

          เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้พบหารือกับนาย Richard P. Palpal-latoc ประธาน กสม. ฟิลิปปินส์ และ นาง Monina Arevalo Zenarosa กสม. ฟิลิปปินส์ พร้อมด้วยเลขาธิการ กสม. ฟิลิปปินส์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมาณ 10 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้แก่ สิทธิในที่ดิน สิทธิชุมชน สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิข้ามพรมแดน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงข้อท้าทายและการพัฒนาการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนขึ้นด้านบน