กสม. ประชุมหารือร่วมกับมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา เรื่องการจัดการศึกษาของเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

02/07/2567 7

          เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม 701 สำนักงาน กสม. นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. ด้านสิทธิมนุษยชน นายภาณุพันธ์  สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประชุมหารือเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับ นายทูชิต (Mr. Htoo Chit) ผู้อำนวยการพิเศษ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (FED) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ รวมถึงการดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 

          มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (FED) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานส่งเสริมและพัฒนาโอกาสการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กที่เป็นลูกหลานหรือผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพื้นที่การทำงานในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ ภาคเหนือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพื้นที่ภาคใต้จังหวัดพังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และสำนักงานภาคเหนือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มูลนิธิฯได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ Unified Learning Center (ULC) ในชุมชนเพื่อเตรียมปรับพื้นฐานให้เด็กที่เป็นลูกหลานหรือผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้เรียนรู้ภาษาไทยและทักษะต่าง ๆ ก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนในระบบโรงเรียน ซึ่งการดำเนินการของศูนย์การเรียนรู้ จะเป็นส่วนสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาและการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมของเด็ก แต่การดำเนินการของ ULC ในหลายจังหวัดยังไม่ได้จดทะเบียนและได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ศูนย์การเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และอาจจะมีคุณภาพ มาตรฐานการดำเนินการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่กำลังมีความขัดแย้งรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านพบว่ามีเด็กเพิ่มจำนวนมากขึ้นในชุมชน

          จากการหารือเห็นว่าควรต้องมีการสำรวจข้อมูล สภาพปัญหาของ ULC ในประเทศไทย โดยอาจดำเนินการสำรวจในพื้นที่นำร่อง 2-3 จังหวัด  และจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี

เลื่อนขึ้นด้านบน