กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 23/2567 กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิฯ - แนะกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์ตรวจหาโรคประจำตัวให้ทหารเกณฑ์เข้าใหม่ ป้องกันความเสี่ยงเกิดอันตรายจากการฝึก หลังเกิดเหตุพลทหารถูกดำรงวินัยและเสียชีวิต

05/07/2567 992

                วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 23/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) แจ้งข้อกล่าวหาผู้ร้องว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือพ้นจากการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 วรรคหนึ่ง และสอบปากคำผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 นอกจากนี้ ยังพบว่าสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำว่าผู้ร้องกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้สารไซยาไนด์ (Cyanide) ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ร้องกระทำความผิด และสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวของผู้ร้องออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โดยใช้ระยะเวลานานเกินสมควร อีกทั้งยังพบสื่อมวลชนบางสำนักคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องและครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทนายความ อันสอดคล้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว โดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลอื่น การกระทำใดอันเป็นการละเมิดสิทธิหรือกระทบต่อสิทธินั้น หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบพระราชบัญญัติการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2564 และแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน

            จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

            ประเด็นแรก พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่แจ้งต่อผู้ร้องว่ามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร้องตามประมวลกฎหมายอาญา และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาทราบ แต่จากการพิจารณาข้อความในรายงานประจำวันปรากฏเพียงว่า “ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบซึ่งผู้ต้องหาทราบ และเข้าใจดีโดยตลอดแล้ว” โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาเกี่ยวกับการมีทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายและไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่มีสิทธิได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ในชั้นนี้จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

                ประเด็นที่สอง การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เห็นว่า การที่สถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 - 8) นำเสนอข่าวคดีของผู้ร้องโดยเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่ายใบหน้าหรือรูปพรรณสันฐาน ชื่อ นามสกุลที่อยู่อาศัย ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติทางการเงิน ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ แม้ว่าสื่อมวลชนบางรายพยายามปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ร้องโดยการเบลอภาพไว้ก็ตาม แต่มีการบรรยายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องที่สามารถระบุตัวตนได้ และพบว่าสื่อมวลชนได้บันทึกภาพผู้ร้องขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ทำให้ผู้ชมโดยทั่วไปสามารถทราบได้ว่าผู้ร้องเป็นใคร การกระทำลักษณะนี้ จึงเป็นการใช้เสรีภาพของสื่อที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลเกินสัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            ส่วนกรณีสื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง นำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำ ตีตรา และด้อยค่าผู้ตกเป็นข่าวโดยใช้ภาพผู้ร้องเป็นภาพประกอบ บางรายการมีรูปแบบรายการข่าวเชิงสืบสวนโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำนำเสนอข่าวเชิงตัดสินและตีตราผู้ร้องว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีการตั้งฉายาบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยใช้ชื่อบุคคลต่อด้วยสารไซยาไนด์ที่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อมีการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สาธารณชนเชื่อว่าผู้ร้องกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            นอกจากนี้ กรณีสื่อมวลชนคุกคามสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของครอบครัวผู้ร้อง เช่น ดักรอบริเวณเคหสถานของบิดามารดา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แสวงหาข้อมูลและเก็บบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งติดต่อสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จักผู้ร้องเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ร้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลไปเสนอต่อสาธารณชนอันเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน อับอาย หรือได้รับความทุกข์ทรมานใจ ตามที่รัฐธรรมนูญ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นกัน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กำชับพนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิในชั้นสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบด้วยวาจาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด และกำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และให้สื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ 7 แห่ง ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และให้สถานีโทรทัศน์จัดให้มีการอบรมหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อมวลชนในสังกัด รวมทั้ง ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกหนังสือเวียนเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว 

            ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมหรือความรุนแรง มาตรฐานในการไม่เปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลผู้ตกเป็นข่าว รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาของการนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่เหมาะสม และพิจารณาให้การเยียวยาแก่ผู้ร้องตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วย

 

            2. กสม. ตรวจสอบกรณีพลทหารเสียชีวิตหลังถูกดำรงวินัย แนะกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์ตรวจหาโรคประจำตัวทหารเกณฑ์เข้าใหม่ ป้องกันความเสี่ยงเกิดอันตรายจากการฝึก

            นายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวพลทหารวรรญวุฒิ  ลำพะพา ทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) สังกัดศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี เสียชีวิตบนเตียงนอน โดยถูกทำร้ายร่างกายและถูกดำรงวินัย (ลงโทษ) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งกองทัพภาคที่ 1 มีคำสั่งให้สอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า อาจมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีการเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ จึงมีมติหยิบยกขึ้นตรวจสอบ โดยรับเป็นคำร้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นั้น 

            กสม. ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 7 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือถูกลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยตามความเห็นทั่วไปลำดับที่ 20 (General Comment No. 20) ของคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การกระทำทรมานนี้ ครอบคลุมถึงความทุกข์ทรมานทางจิตใจและหมายความรวมถึงการลงโทษที่เกินสมควรแก่เหตุด้วย เช่น การสั่งสอน หรือมาตรการฝึกวินัย 

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ครูฝึกและผู้ช่วยครูฝึกสั่งทหารใหม่ปฏิบัติท่ากายบริหาร และวิ่งเป็นระยะทาง 2.4 กิโลเมตร ซึ่งพลทหารวรรญวุฒิ ผู้เสียชีวิต วิ่งได้ประมาณ 600 เมตร ต่อมาเวลา 21.00 - 21.15 น. มีการสั่งดำรงวินัยทหารใหม่โดยให้ทำท่าพุ่งหลังและท่าลุกหมอบเนื่องจากตรวจพบว่า มีทหารใหม่สูบบุหรี่ ซึ่งพลทหารผู้เสียชีวิตปฏิบัติได้ไม่ครบตามคำสั่งเพราะมีอาการเหนื่อย จึงสั่งให้นอนหงายยกแขนยกขาพ้นพื้นแทน จากนั้นเวลา 21.30 น. ได้สั่งให้ขึ้นโรงนอน แต่พลทหารผู้เสียชีวิตมีอาการอ่อนล้าจึงให้พักที่ห้องพยาบาล โดยมีนายสิบพยาบาลเป็นผู้ดูแล และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 36.6 องศาเซลเซียส ต่อมาเวลาประมาณ 22.20 น. พลทหารผู้เสียชีวิตมีอาการหายใจติดขัด ชีพจรอ่อน จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอดิศร ระหว่างทางนายสิบพยาบาลได้ปั๊มหัวใจกู้ชีวิตต่อเนื่อง จนถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้ให้การรักษาและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

            กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการฝึกทหารใหม่หรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏว่า พื้นที่เกิดเหตุในค่ายไม่มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไว้ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามรายงานผลการชันสูตรพลิกศพของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสำนวนการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรีสรุปสาเหตุการเสียชีวิตสอดคล้องกันว่า มีสาเหตุจากตับวาย ไขมันพอกตับชนิดรุนแรง (ร่วมกับประวัติฮีทสโตรก) อีกทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ซึ่งเป็นแพทย์ ให้ความเห็นว่า พลทหารผู้เสียชีวิตมีภาวะของโรคอ้วนจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคไขมันพอกตับ ส่วนการเกิดฮีทสโตรกเป็นการเจ็บป่วยจากความร้อนเกิดขึ้นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และเป็นเหตุให้ตับวายได้ เมื่อพลทหารวรรญวุฒิ มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดฮีทสโตรก ดังนั้น การฝึกหรือการออกกำลังกายหนักอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต 

            สำหรับกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่า พลทหารวรรญวุฒิ มีภาวะเปลือกหุ้มม้ามแตกหรือฉีกขาดทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้องนั้น ตามรายงานผลการชันสูตรพลิกศพของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุว่า มีการตรวจพบเลือดในกระเพาะอาหารจริง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยแพทย์ให้ความเห็นว่าอาจเกิดจากการสำลักเลือด หรือเกิดจากเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเอง หรืออาจเกิดจากภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติเนื่องจากฮีทสโตรก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเลือดในช่องท้องปริมาณ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเกิดจากตับแตก โดยตำแหน่งที่ตับแตกอาจเกิดจากการปั๊มหัวใจกู้ชีวิตในตำแหน่งที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณเลือดที่ออกมามีปริมาณน้อยจึงไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการฝึกทหารใหม่ 

            ประเด็นที่สอง การฝึกและการดำรงวินัยทหารใหม่มีลักษณะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า แม้การที่ครูฝึกและผู้ช่วยครูฝึกสั่งให้ทหารใหม่ปฏิบัติท่ากายบริหารและดำรงวินัยจะเป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหารปกติทั่วไป แต่การที่พลทหารผู้เสียชีวิตไม่สามารถปฏิบัติได้ครบตามคำสั่งเนื่องจากมีอาการเหนื่อยซึ่งอาจเพราะมีรูปร่างสูงใหญ่และมีน้ำหนักมาก ประกอบกับมีโรคประจำตัวที่ทั้งตนเองหรือครูฝึกอาจไม่ทราบ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของทหารใหม่ที่เป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งอาจไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่เข้ารับราชการทหารในกองทัพบกด้วยวิธีการสอบคัดเลือกที่มีการเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการทดสอบ ฉะนั้น ครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกต้องตระหนักถึงข้อจำกัดด้านร่างกายของทหารใหม่ และต้องใช้ความระมัดระวังเมื่อพบทหารใหม่มีอาการผิดปกติ 

            การที่ครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกยังคงสั่งให้พลทหารวรรญวุฒิ ฝึกปฏิบัติร่วมกับเพื่อนทหารใหม่แม้จะมีอาการเหนื่อยบ่อยครั้งจนนำไปสู่การเสียชีวิต ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการฝึกประจำปี 2566 ของกองทัพบกและระเบียบและหลักสูตรการฝึกทหารใหม่เบื้องต้นทั่วไป สำหรับทหารทุกเหล่าของกองทัพบก (6 สัปดาห์) พ.ศ. 2564 จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก ที่กำหนดให้การฝึกทหารใหม่จะต้องกำหนดตารางฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่กองทัพบกมีคำสั่งลงโทษกำลังพลที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ดังกล่าว เนื่องจากกระทำความผิดวินัยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่าการฝึกและการดำรงวินัยทหารใหม่มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลทหารวรรญวุฒิ และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย 

            กสม. เห็นว่า กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวรรญวุฒิ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตกรณีที่ต้องใช้ร่างกายสำหรับการฝึกทหาร เนื่องจากขั้นตอนคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการ มีเพียงการตรวจสภาพร่างกายภายนอกทั่วไป และการให้บุคคลที่มีโรคประจำตัวนำหลักฐานมาแสดงเพื่อไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการเท่านั้น ทั้งนี้ บุคคลที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารมีพื้นฐานอาชีพและฐานะการเงินที่แตกต่างกันอาจทำให้มีผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพและไม่ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอยู่

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม สรุปได้ดังนี้

            (1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กองทัพบกดำเนินการให้แต่ละหน่วยฝึกทหารใหม่กำหนดตารางการฝึกทหารใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการพัฒนาสมรรถภาพทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการฝึกเพื่อให้ทหารใหม่ปรับสภาพร่างกายได้ รวมทั้งให้กำชับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ครูฝึกและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ให้ปฏิบัติตามนโยบายการฝึกประจำปีของกองทัพบกอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังและการปฐมพยาบาลการเจ็บป่วยจากความร้อน (Heat Stroke) ในระหว่างการฝึกทหารใหม่

            (2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพให้กับบุคคลที่ผ่านเข้ารับการเกณฑ์ทหารกองประจำการ โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะเสี่ยงมีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายหากต้องใช้ร่างกายสำหรับการฝึกทหาร 

            ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบนี้ ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 29 และตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับสำนักงานอัยการสูงสุด

 

 

(ข่าวเสริมประกอบการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 23/2567)

 

            กสม. เชิญชวนสมัครหรือเสนอชื่อบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นสมควรมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567 เพื่อยกย่อง เชิดชู และประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่อุทิศตนปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประวัติผลงานให้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจแก่บุคคลหรือองค์กรอื่นในสังคม รวมทั้งเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น

            โดยแบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 4 ประเภท จำนวน 9 รางวัล ดังนี้

                1. ประเภทบุคคลทั่วไป/กลุ่มบุคคล จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ (1) ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่เกิน 2 รางวัล (2) ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ไม่เกิน 2 รางวัล และ (3) ด้านสิทธิของกลุ่มคนเปราะบาง ไม่เกิน 2 รางวัล

               2. ประเภทองค์กรภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ/องค์การมหาชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1 รางวัล

              3. ประเภทองค์กรภาคเอกชน/ภาคประชาสังคม/ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน/เครือข่าย จำนวน 1 รางวัล

              4. ประเภทบุคคลหรือองค์กรสื่อมวลชน จำนวน 1 รางวัล

               บุคคลและองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล ๆ ละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

            ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครหรือเสนอชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2141 3930 หรือ 0 2141 3925 โทรศัพท์มือถือ 09 2270 4360 หรือ 06 2492 4641 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ www.nhrc.or.th

 

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน