กสม.สุภัทรา เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ วิชาสัมมนากฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับสตรี สำหรับนักศึกษาภาคฤดูร้อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

05/07/2567 99

          เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 -16.30 น. นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ วิชา LA277 : สัมมนากฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับสตรี (SEMINAR ON LAW AND STATE POLICY ON WOMEN) สำหรับนักศึกษาภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนักศึกษาจากทุกคณะทุกชั้นปีเข้าฟังการบรรยายพิเศษ อาทิ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ รวมจำนวน 80 คน ณ ห้องบรรยาย SC 4001 อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้รู้จักองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หน้าที่และอำนาจของ กสม. ปฐมบทสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับ ที่มาความหมายและขอบเขตของสิทธิมนุษยชน หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน บทบาทหน้าที่ของรัฐในเรื่องสิทธิมนุษยชน และขอบเขตของสิทธิมนุษยชนหรือมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อมนุษย์ จากนั้นให้ความหมายของ LGBTINQ+ ที่มาและความสำคัญที่ต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมทั้งยกตัวอย่างรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม สิทธิสุขภาพ สิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

          นอกจากนั้น นางสาวสุภัทรา ยังบอกเล่าประสบการณ์ขณะเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2526 รวมทั้งผลงานและประสบการณ์การทำงานด้านผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางตลอด 35 ปี ในองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาอย่างมาก มีการสอบถามเพิ่มเติมในประเด็นสิทธิมนุษยชน และขอคำแนะนำในการทำงานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคต ทั้งนี้ได้ฝากทิ้งท้ายว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญและใกล้ตัวนักศึกษาทุกคน เราทุกคนมีหน้าที่เคารพสิทธิของผู้อื่น การใช้สิทธิต้องมีขอบเขตไม่ไปล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น และทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนได้ตลอดเวลา

เลื่อนขึ้นด้านบน