กสม. ร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ชี้แจงรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2566 และรายงานผลการปฏิบัติงาน กสม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

05/07/2567 107

          เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรประไพ  กาญจนรินทร์  และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรีดา  คงแป้น ปิติกาญจน์  สิทธิเดช วสันต์  ภัยหลีกลี้ และสุภัทรา  นาคะผิว พร้อมด้วยรองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรรษา หอมหวล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ภาณุพันธ์ สมสกุล และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อชี้แจงรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2566 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา

          ในโอกาสนี้ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ชี้แจงพร้อมตอบข้อซักถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในส่วนรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2566 ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคล และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอแนะในประเด็นที่เป็นข้อท้าทายต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 132 ข้อ เกี่ยวข้องกับ 29 หน่วยงาน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะนำข้อมูลความคืบหน้าไปประกอบการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ฯ ในปีต่อไป

          สำหรับรายงานผลการปฏิบัติงาน กสม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กสม. ได้นำเสนอผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2. ด้านการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3. ด้านการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย 4. ด้านการสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และ 5. ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขหน้าที่และอำนาจของ กสม. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและช่วยให้ กสม. สามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 15 ท่าน ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิเด็ก เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิแรงงงาน ผู้ลี้ภัย สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. เพื่อยกระดับงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่ง กสม. รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

เลื่อนขึ้นด้านบน