กสม. ร่วมกับ สวรส. และ CHIA Platform จัดเวทีระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อออกแบบระบบเฝ้าระวังผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่

08/07/2567 143

          เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 12.30 น. ที่ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน (CHIA Platform) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน: การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งผู้ประกอบการ สภาการเหมืองแร่ หน่วยงานอนุมัติอนุญาต หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้มีส่วนร่วมในการทบทวนและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ที่มีประสิทธิภาพ โดยการสัมมนาใช้รูปแบบการคุยแบบอ่างปลา (Fishbowl) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึงและตามความสมัครใจ

          นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดและเล่าถึงความเป็นมาของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เนื่องจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบประเด็นผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่จำนวนมาก โดยพบปัญหาตั้งแต่ระบบต้นทางของการประกอบกิจการที่ประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วม จนถึงปัญหาของระบบเฝ้าระวังผลกระทบ รวมถึงอุปสรรคในการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินในการเข้าไปดำเนินการเป็นจำนวนมาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษหรือสาธารณสุข ก็ไม่มีงบประมาณในการเฝ้าระวัง รวมทั้งยังขาดการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน (Baseline data) ที่จะมาสนับสนุนการเฝ้าระวัง อีกทั้งประชาชนและชุมชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่เข้าใจระบบการเฝ้าระวัง ดังนั้น จึงจัดเวทีวันนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมหารือกันว่าจะปรับปรุงระบบเฝ้าระวังอย่างไร จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถจัดการตัวเองได้อย่างไร และรัฐจะช่วยสนับสนุนอย่างไร โดยผลของการรับฟังครั้งนี้ กสม. จะนําไปจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

          ในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญที่ควรมีการพัฒนาต่อไปดังนี้

          1. การบูรณาการการทำงานและข้อมูล จากการสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมพบว่า มีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบของกิจการเหมืองแร่ในมิติต่าง ๆ แต่ยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน อีกทั้งข้อมูลยังแยกส่วน ยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ไม่มีข้อมูลที่จะใช้ในการทำงานเฝ้าระวัง

          2. ขาดทรัพยากรในการดำเนินงาน จากการสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมพบว่า บางหน่วยงานไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการเฝ้าระวัง ทั้งกำลังคนและงบประมาณ อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากมีกองทุนเฝ้าระวัง ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ใช้งบประมาณจากกองทุนดังกล่าวมาดำเนินการ แต่งบดังกล่าวยังมีน้อยและไม่ครอบคลุมการจัดการผลกระทบที่ตกค้างจากเหมืองแร่เก่าที่หยุดดำเนินการไปแล้ว

          3. ความครอบคลุมและความน่าเชื่อถือของข้อมูล จากการสนทนาระหว่างผู้เข้าร่วมพบว่า ยังขาดการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน (Baseline data) ที่ครอบคลุมเพียงพอ อาทิ ผู้เข้าร่วมบางคนสะท้อนว่าข้อมูลจากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะนำมาใช้เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประชาชนไม่เชื่อถือในข้อมูลที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐ รวมถึงข้อมูลใน EIA ที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งว่าจ้างโดยผู้ประกอบการกิจการเหมืองแร่ ส่วนข้อมูลของภาคประชาชนหรือชุมชนก็ไม่ได้ถูกยอมรับในระบบอย่างเป็นทางการ

          4. วิทยาศาสตร์พลเมืองมีความจำเป็นสำหรับระบบเฝ้าระวัง ผู้เข้าร่วมบางส่วนชี้ให้เห็นความจำเป็นของบทบาทภาคประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลและเฝ้าระวังผลกระทบ โดยบทบาทของประชาชนดังกล่าวควรได้รับการยอมรับในเชิงระบบอย่างเป็นทางการ รวมถึงการให้ประชาชนได้ร่วมจัดทำข้อมูลพื้นฐานในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA ด้วย เพื่อลดความขัดแย้งด้านข้อมูล

          หลังจากการจบวงสนทนา นายแพทย์ขวัญประชา  เชียงไชยสกุลไทย สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวปิดการประชุมว่า วันนี้เราเห็นข้อจํากัดของหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจต้องดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่ เห็นว่าข้อมูลของภาครัฐแยกส่วนและไม่เชื่อมโยงกันอย่างที่ควรจะเป็น จึงไม่สามารถตอบคําถามของประชาชนหรือชุมชนได้ เราได้เห็นแนวคิดเรื่องของวิทยาศาสตร์พลเมือง ซึ่งทำให้รู้ว่าประชาชนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าให้ประชาชนสามารถวัดความเค็มของดินได้ตั้งแต่แรก เขาก็อาจจะไม่มีคําถามว่าความเค็มมาจากเหมืองหรือไม่ เพราะเขาเป็นคนวัดเองกับมือ หากเราเชื่อว่าชาวบ้านทำเรื่องเหล่านี้ได้ เราให้โอกาสชาวบ้านทำเรื่องเหล่านี้บ้าง ให้โอกาสชาวบ้านทำ Baseline data ด้วยตัวเอง ก็อาจจะลดความขัดแย้ง และจะได้เห็นข้อมูลซึ่งกันและกัน วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่พวกทุกภาคส่วนได้มาเปิดอกคุยกัน และอยากเห็นอีกในเวทีต่อ ๆ ไป

เลื่อนขึ้นด้านบน