กสม.สุภัทรา บรรยาย เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับปัญหาสุขภาพ” สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รุ่นที่ 2 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12/07/2567 533

          เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ห้องเรียนใหญ่ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อาคาร อปร. ชั้นที่ 19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับปัญหาสุขภาพ” สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รายวิชาทฤษฎีทางเวชศาสตร์ชุมชน (Theory in Community Medicine) และรายวิชาการปฏิบัติงานทางเวชศาสตร์ชุมชน (Performance in Community Medicine) ประจำปีการศึกษา 2567 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 2 จำนวน 33 คน

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นบรรยายด้วยการแนะนำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน้าที่และอำนาจของ กสม. สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน 9 ฉบับของสหประชาชาติ ความหมายของสิทธิมนุษยชน และบทบาทหน้าที่ของรัฐด้านสิทธิมนุษยชน จากนั้นได้กล่าวถึงสิทธิสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ระบบหลักประกันสุขภาพสถานการณ์ปัญหาสิทธิสุขภาพในประเทศไทย พร้อมยกตัวอย่างรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและรายงานข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องของ กสม.เช่น การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ใบรับรองแพทย์ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินความจำเป็น การเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติและบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพเชิงระบบของประเทศไทย ได้แก่ความไม่เพียงพอของบุคลากรและทรัพยากร รวมถึงการกระจายที่ไม่เป็นธรรม ค่ารักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์แพงในโรงพยาบาลเอกชน แม้กระทรวงพานิชจะประกาศให้บริการทางการแพทย์และค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเป็นบริการควบคุม แต่ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ความเหลื่อมล้ำในชุดสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน และการจัดระบบบริการสุขภาพที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

          นางสาวสุภัทรา กล่าวช่วงท้ายการบรรยายว่า นิสิตแพทย์ต้องติดอาวุธทางปัญญา ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน การให้บริการต้องไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วย สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ การแพทย์ปัจจุบันใครมีเงินมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ต้องเปลี่ยนเป็นทุกคนมีสิทธิรอดเท่าๆ กัน เพราะสิทธิสุขภาพ คือสิทธิมนุษยชน คือสิทธิของทุกคน

เลื่อนขึ้นด้านบน