กสม. ศยามล ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ. ระยองให้เป็นรูปธรรม

12/07/2567 153

          เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 – 17.00 น. ที่ห้องประชุมภักดีศรีสมคราม ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดระยอง นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง พยานผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ประชุมร่วมกับนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลจังหวัดระยอง สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เทศบาลตำบลเนินพระ เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลนิคมพัฒนา เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา เทศบาลเมืองบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง กรณีร้องเรียนว่า หน่วยงานของรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงล่าช้า และประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลกระทบได้อย่างเพียงพอ

          โดยที่จังหวัดระยองเป็นพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เขตตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ทั้งตำบล และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 อีกทั้งนโยบายของรัฐมุ่งส่งเสริมให้จังหวัดระยองและพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development: EEC) แต่ในสภาพความเป็นจริงกลับพบว่า การแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองไม่มีความคืบหน้าและผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาการควบคุมและจัดการกับสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารประกอบ อนินทรีย์อื่น ๆ (โลหะหนัก) มลพิษในแหล่งน้ำ การจัดการขยะและกากของเสียอุตสาหกรรม การเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหล การเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ในสถานประกอบการหรือในระหว่างการขนส่ง กลไกการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหามลพิษ การให้คำปรึกษาและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งประสานและเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารเคมีอันตรายและมลพิษในสิ่งแวดล้อมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การบูรณาการในการวางแผน การตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในการบริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยองให้มีประสิทธิภาพและชัดเจน ข้อจำกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหามลพิษทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ

          จากการประชุมดังกล่าว ผู้ทรงคุณวุฒิ พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ได้ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่

          1. เห็นควรเสนอให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) มีกลไกควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อม มีฐานข้อมูลที่แสดงถึงชนิดและปริมาณมลพิษที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิด รวมถึงข้อมูลปริมาณการเคลื่อนย้ายน้ำเสียหรือของเสียออกนอกสถานประกอบการเพื่อบำบัดหรือกำจัด

          2. ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวป้องกันโดยรอบ (Protection Strip) หรือแนวพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาคอุตสาหกรรมและพื้นที่โดยรอบ ลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ

          3. ส่งเสริมกลไกการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ การรายงานเกี่ยวกับคุณภาพอากาศต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้มีหน่วยงานกลางเพื่อกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในเรื่องคุณภาพและความถูกต้องครบถ้วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

          4. สนับสนุนให้มีการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภายหลังการประกาศเขตควบคุมมลพิษ และการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

          5. เสนอแนะให้สาธารณสุขจังหวัดระยองจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษ ส่งเสริมการตรวจสุขภาพเชิงรุก รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเกิดโรค อาการเจ็บป่วย และความเชื่อมโยงกับชนิดของสารเคมีที่ตรวจพบ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข

          6. เรียกร้องให้เสนอรัฐบาลพิจารณาชะลอนโยบายที่จะยกเลิกการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากโครงการประเมินผลเพื่อยกเลิกเขตควบคุมมลพิษฯ ที่กรมควบคุมมลพิษได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ ผลการศึกษาพบว่า ยังไม่มีพื้นที่ใดมีความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ

          7. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษจังหวัดระยอง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

          8. ส่งเสริมและมุ่งเน้นกลไกภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และติดตามการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลตามกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) เช่น ข้อมูลการครอบครองสารเคมีของผู้ประกอบการ

          9. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการบริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยองให้เป็นเอกภาพในรูปแบบแฟลตฟอร์มเดียวกัน

          10. เสนอแนะให้รัฐบาลและรัฐสภาทบทวนกฎหมายและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมายและกลไกในการดำเนินการ โดยเฉพาะกรณีการถ่ายโอนภารกิจจากราชการส่วนกลางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจที่เหมาะสม

          ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการลงพื้นที่มาใช้ประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

เลื่อนขึ้นด้านบน